ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้และแนวโน้ม TTW ที่ “AA-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 16, 2016 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ทีทีดับบลิว (TTW) ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาขายน้ำขั้นต่ำระยะยาว และความสม่ำเสมอของอุปสงค์น้ำประปา อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมากและความเสี่ยงจากการมีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นลูกค้าหลักเพียงรายเดียว

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพในการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งและคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ อันดับเครดิตของบริษัทมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลางเนื่องจากการดำเนินงานที่คงตัวและโอกาสที่จำกัดในการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ คุณภาพเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เพิ่มจนส่งผลกระทบในด้านลบต่อโครงสร้างเงินทุนและฐานะทางการเงินของบริษัท

กลุ่มบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2543 ณ เดือนสิงหาคม 2559 กลุ่ม ช. การช่างมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทรวม 38.85% ผ่าน บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (19.45%) และ บริษัท ช. การช่าง (19.40%) นอกจากนี้ บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ยังถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 25.98% ด้วย ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 976,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และให้บริการบำบัดน้ำเสียซึ่งมีกำลังการบำบัด 18,000 ลบ.ม. ต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 25.31% ใน บริษัท ซี. เค. พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ด้วย โดยบริษัท ซี. เค. พาวเวอร์ เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม ช. การช่าง ปัจจุบันโรงไฟฟ้าหลักของ บริษัท ซี. เค. พาวเวอร์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

บริษัทดำเนินงานโรงผลิตน้ำประปา 3 โรงซึ่งให้บริการน้ำประปาในพื้นที่ 3 เขต คือเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาคร เขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน บริษัทให้บริการน้ำประปาแก่ กปภ. ภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปาอายุ 25 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2566 และสัญญาอายุ 30 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2577 กปภ. มีพันธะในการรับซื้อน้ำประปาจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำจำนวน 712,000 ลบ.ม. ต่อวัน ทั้งนี้ สูตรการคำนวณอัตราค่าน้ำจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index -- CPI) นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสิทธิในการดำเนินการผลิต จำหน่าย และให้บริการน้ำประปา รวมทั้งให้บริการบำบัดน้ำเสียในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินระยะเวลา 30 ปีอีกด้วย โดยสิทธิดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2582 บริษัทมีรายได้หลักจากเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครและเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยมีสัดส่วน 64% และ 31% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2558 ตามลำดับ

ฐานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากการมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำและอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจในระดับสูง บริษัทเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการบางส่วนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ต้องการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนที่สูงในการสร้างโครงข่ายระบบส่งและจ่ายน้ำประปาและต้องได้รับสิทธิในการใช้ทางสำหรับก่อสร้างโครงข่ายการส่งน้ำ อย่างไรก็ดี โอกาสการขยายธุรกิจในพื้นที่บริการใหม่ ๆ ของบริษัทมีข้อจำกัดเนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของ กปภ. ในการให้สัมปทาน อีกทั้งแหล่งน้ำดิบก็เป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่งด้วยเช่นกัน

บริษัทมีความเสี่ยงจากการมี กปภ. เป็นลูกค้ารายใหญ่เพียงรายเดียวด้วยโดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมารายได้ของบริษัทมาจาก กปภ. กว่า 95% อย่างไรก็ตาม สถานะความน่าเชื่อถือของ กปภ. ก็อยู่ในระดับที่รับได้เนื่องจากมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะเป็นลูกค้าหลักแล้ว กปภ. ยังเป็นคู่แข่งของบริษัทอีกด้วย โดยหาก กปภ. สร้างโรงกรองน้ำประปาแห่งใหม่และจ่ายน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่บริษัทให้บริการก็จะส่งผลกระทบทำให้ยอดจำหน่ายน้ำของบริษัทลดลง ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายน้ำในพื้นที่ปทุมธานีของบริษัทไม่เติบโตในปี 2556 และลดลง 2.6% ในปี 2557 และ 0.4% ในปี 2558 เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกรองน้ำแห่งใหม่ของ กปภ. ในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี การที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายน้ำประปาขั้นต่ำกับ กปภ. ทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำประปาไม่ต่ำกว่าที่ระบุในสัญญา

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีโครงสร้างสัญญาซื้อขายน้ำที่ดีกับ กปภ. อีกทั้งยังมีอุปสงค์น้ำที่สม่ำเสมอซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่มั่นคง ในปี 2558 บริษัทมีรายได้ 5,430 ล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 รายได้ของบริษัทลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 4,050 ล้านบาท รายได้ของบริษัทถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวและการมีโรงกรองน้ำแห่งใหม่ของ กปภ. ในพื้นที่ปทุมธานี นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ติดลบในปี 2558 ยังส่งผลกระทบต่อราคาค่าน้ำที่ลดลงในปี 2559 ประมาณ 1%-1.4% ด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยในปี 2559 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นปีละ 2%-4% ในปี 2560-2562 จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของชุมชน บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตในพื้นที่ปทุมธานีอีก 100,000 ลบ.ม. ต่อวันเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่รังสิต นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงกรองน้ำแห่งใหม่ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตในพื้นที่อีก 100,000 ลบ.ม. ต่อวันเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปี 2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำรงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องโดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 77%

ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัท โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 26.08% ณ เดือนกันยายน 2559 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีโดยใช้ข้อมูล 12 เดือนย้อนหลัง) และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่าย 10.04 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับดีขึ้นจากการชำระหนี้ที่ครบกำหนด โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 56.02% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 53.89% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559

ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังอยู่ในระดับดีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ถึงสิ้นปี 2560 โดยพิจารณาจากความต้องการใช้และแหล่งที่มาของเงินทุน บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 1,360 ล้านบาทและมีแผนลงทุนรวมประมาณ 1,000-1,300 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว และคาดว่าบริษัทจะยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราสูงที่ประมาณ 2,400-2,600 ล้านบาทต่อปี แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 3,200-3,400 ล้านบาทต่อปีรวมทั้งเงินสดและเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 จำนวน 1,396 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเงินจำนวน 2,090 ล้านบาทที่ต้องสำรองไว้ตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานที่ได้รับจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้น 25.31% ในบริษัท ซี. เค. พาวเวอร์ ซึ่งมีมูลค่า 6,530 ล้านบาท ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ