ทริสฯคงเครดิต LHBANK ที่ “A-"หุ้นกู้คล้ายทุนที่เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่“BBB"เครดิตพินิจ“Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 30, 2016 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) ที่ระดับ “A-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “BBB" พร้อมเครดิตพินิจ “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพิจารณาอันดับเครดิตยังรวมถึงความสำเร็จของธนาคารในการกระจายพอร์ตสินเชื่อไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการมีพอร์ตสินเชื่อที่ยังมีคุณภาพดีแม้จะเสื่อมถอยลงไปบ้างในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ด้วย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นทั้งหมดของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างเล็กทั้งในธุรกิจสินเชื่อและเงินรับฝาก ตลอดจนการพึ่งพาสินเชื่อขนาดใหญ่ การพึ่งพาแหล่งรายได้จากดอกเบี้ยค่อนข้างมาก รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

อันดับเครดิต “BBB" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (LHBANK255A) สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

ทริสเรทติ้งได้ประกาศ “เครดิตพินิจ" แนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก" ให้แก่อันดับเครดิตองค์กร ของธนาคารเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 อันสืบเนื่องมาจากการประกาศของ LHFG เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ซึ่งระบุว่าบริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาจองซื้อหุ้นกับ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC) เพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธนาคารของ CTBC

ทั้งนี้ “เครดิตพินิจ" แนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงแนวโน้มของสถานะทางธุรกิจของธนาคารที่เป็นไปในทางที่ดีจากฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นและโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ความคืบหน้าล่าสุดจากผู้บริหารของธนาคารระบุว่าธุรกรรมดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการรอความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแล ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงยังคงสถานะ “เครดิตพินิจ" ดังกล่าวไว้และจะประเมินสถานะอันดับเครดิตของธนาคารอีกครั้งหลังจากธุรกรรมดังกล่าวดำเนินการเสร็จสิ้น

CTBC เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไต้หวันโดยธนาคารมีจุดแข็งทั้งในธุรกิจสินเชื่อบรรษัทและรายย่อย ทั้งนี้ หากธุรกรรมข้างต้นดำเนินการแล้วเสร็จ CTBC ก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ LHFG ด้วยสัดส่วน 35.6% ในขณะที่สัดส่วนของผู้ถือหุ้นหลักเดิม (ได้แก่ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) และ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH)) จะลดลงเหลือ 35.6% โดยภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ฐานเงินทุนของบริษัทแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จะเพิ่มขึ้นประมาณ 16 พันล้านบาทและฐานเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์จะเพิ่มขึ้นด้วยในจำนวนเดียวกันเมื่อได้รับเงินเพิ่มทุนจาก LHFG ทั้งนี้ ด้วยเงินทุนก้อนใหม่เมื่อบวกกับความเชี่ยวชาญของพันธมิตรรายใหม่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ในอนาคต

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นบริษัทย่อยหลักของ LHFG ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเองในกลุ่ม LH BANK ณ เดือนกันยายน 2559 ธนาคารมีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 13 จากธนาคารพาณิชย์ไทย 17 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.3% และเงินรับฝากที่ 1.3% ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ทำการขยายสาขาเพื่อเสริมช่องทางการให้บริการแก่ลูกค้าและรองรับการเติบโตในอนาคต

พอร์ตสินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25% จากปี 2553 ถึงปี 2558 สินเชื่อและดอกเบี้ยคงค้าง ณ เดือนกันยายน 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 141.6 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 8% จากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารเน้นขยายสินเชื่อธุรกิจมากขึ้นภายหลังการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินเชื่อขนาดใหญ่ส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย

หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมแล้วธนาคารมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพค่อนข้างต่ำ โดยในงวด 9 เดือนแรกของปี 2559 ธนาคารมีอัตราส่วนตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 0.59% เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 1.12% ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมสินเชื่อระหว่างธนาคาร) อยู่ที่ 1.8% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 3.7% อัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพที่ต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดหนี้สูญและการขายหนี้ออกไป

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการบริหารและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมได้ดีเมื่อเทียบกับระดับปกติของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เหตุผลหลักมาจากสัดส่วนสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีปัญหาการค้างชำระหนี้มากที่สุด ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากเพื่อเพิ่มปริมาณเงินสำรองของธนาคารสำหรับรองรับความเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2559 ปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารคิดเป็น 195% ของสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของทางการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 164% ณ เดือนธันวาคม 2557

ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2558 จำนวน 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% และกำไรสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2559 ยังเพิ่มขึ้นถึง 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกำไรที่ดีขึ้นนี้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีสัดส่วนของกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนต่อกำไรสุทธิที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ดังนั้น จึงอาจส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารมีความผันผวนได้มากกว่าธนาคารอื่น ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่สูงและกลยุทธ์ของธนาคารที่เน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อธุรกิจรายย่อย ธนาคารยังคงสามารถเพิ่มฐานเงินฝากโดยต้นทุนเงินฝากยังสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินฝากต้นทุนต่ำอย่างเช่นเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารยังคงมีสัดส่วนที่น้อยในโครงสร้างเงินฝากของธนาคาร

แม้ว่าในปัจจุบันธนาคารจะมีอัตราการเติบโตของกำไรที่ค่อนข้างดี แต่ธนาคารก็ยังมีระดับของการก่อหนี้ (Financial Leverage) เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็ว โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง 10.58% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 14.13% โดยอัตราส่วนทั้งสองอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังคงน้อยกว่าระดับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการเพิ่มทุนอย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจากพันธมิตรอย่าง CTBC หรือการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตทางธุรกิจของธนาคารในอนาคต รวมถึงเพื่อรักษาระดับฐานทุนในระดับเดียวกับธนาคารอื่นในอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ