KTBST คาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ผันผวนตามแรงขายทำกำไร-แรงเก็บหุ้นต่อ ให้กรอบ 1,521-1,556 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 4, 2017 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (4-6 ม.ค.) ว่า แรงซื้อของกองทุน RMF-LTF ที่น่าจะลดลงไปมากจะได้แรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาแทน ตามภาวะตลาดต่างประเทศที่ยังดี ซึ่งจะหนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหุ้นกันต่อ แต่ตลาดจะมีความผันผวนสูง จากการขายทำกำไรช่วงสั้นของนักลงทุนที่ซื้อหุ้นไว้เมื่อปลายปี โดยมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรของตลาดคือรายงานประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 5 ม.ค รวมถึงราคาน้ำมัน และการตอบรับของตลาดต่อนโยบายบริหารประเทศของนายทรัมป์

"กลยุทธ์ลงทุนที่แนะนำคือแม้เราจะมองทิศทางตลาดไปในทางบวกจากปัจจัยในฝั่งบวกที่มีมากกว่า แต่สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการเสี่ยงมาก ควรรอให้ดัชนีฯ ผ่าน 1,550 ขึ้นไปก่อนค่อยเข้าซื้อ อย่างไรก็ตามมองว่าถ้ามีการขายหุ้นออกมา โดยไม่ได้มีข่าวในเชิงลบของตลาด เชื่อว่าน่าจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาในที่สุด ซึ่งจะเป็นจังหวะของการซื้อหุ้น"นายวิน กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มดีจะเป็นหุ้นบางตัวในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ , หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท , หุ้นที่มีการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 4/59 ว่าจะออกมาดี หุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณ SET100-50 และหุ้นขนาดใหญ่บางกลุ่ม ที่ราคายังขึ้นมาไม่มาก เช่น หุ้นกลุ่มธนาคาร

KTBST มองดัชนีฯสัปดาห์นี้ จะผันผวนในกรอบ 1,521-1,566 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดนั้นได้แก่ 1.) นโยบายของนายโดนีลด์ ทรัมป์ ต่อตลาดต่างประเทศ เพราะจะเริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า นโยบายในการบริหารประเทศหลังตนเองขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 20 ม.ค. นี้ จะเป็นแบบใด การตีข่าวในเรื่องนโยบายนี้ น่าจะเข้มข้นมากในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือน ม.ค. รวมถึงค่าเงินดอลล่าร์ที่จะสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯและทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเอง การเผยรายงานประชุม FOMC 13-14 ธ.ค. ในวันที่ 5 ม.ค. อาจมีผลต่อตลาดด้วย และรายงานตัวเลข PMI ของจีนและยุโรป ที่เพิ่งออกมาในช่วงวันหยุด ส่วนใหญ่จะออกมาดี เป็นบวกต่อตลาด

2.) ราคาน้ำมัน & สินค้าโภคภัณฑ์หลายตัว มีแนวโน้มเดินหน้าต่อ บล.KTBST มองว่า ตลาดยังเชื่อว่าการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถทำได้จริง (ใกล้เคียงกับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน) การประกาศลดการส่งมอบน้ำมันของประเทศในกลุ่ม OPEC เป็นสัญญาณบวก และหนุนให้ราคาน้ำมันดิบจากแหล่ง Brent สูงขึ้นด้วย เป็นผลให้ราคาน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. หลังจากที่ผู้ผลิตน้ำมันตกลงลดกำลังการผลิตอย่างเป็นทางการ นั้นขยับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ม.ค. กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน จะมีการประชุมในเรื่องแผนการลดกำลังการผลิตของแต่ละราย หากผู้ผลิตมีแผนลดการผลิตรวมกันในเดือน ม.ค.-ก.พ. ในจำนวนที่มีนัยยะ จะเป็นบวกต่อราคาน้ำมันดิบ แต่หากเป็นในทางตรงกันข้าม คือยังไม่ลดกำลังการผลิต หรือลดน้อยกว่าเป้าหมายมาก จะเป็นลบต่อราคาน้ำมัน

3.) การเก็งงบไตรมาส 4 และเงินปันผลงวดครึ่งปีหลัง ประเมินกำไรไตรมาสที่ 4/59 ไว้ที่ 1.6 – 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 9-13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้กำไรของบริษัทในตลาดดีขึ้น มาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มูลค่าส่งออกของไทยที่สูงขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เข้ามาในช่วง 1-2 เดือนสุดท้าย หากกำไรของบริษัทในตลาดออกมาตามที่ประเมินไว้ ค่า P/E ของตลาด จะอยู่ที่ 17.8 เท่า (SET Index = 1542.94) และ Forward P/E ของกำไรปี 2559 ที่เราประมาณการไว้ ที่ 16.9 เท่า ทั้งนี้ หุ้นที่คาดว่า ผลประกอบการ 4Q จะออกมาดี จะเป็นธุรกิจ กลุ่มน้ำมัน (ผู้ผลิต+โรงกลั่นน้ำมัน) ธุรกิจส่งออก (อีเล็คทรอนิกส์-ชิ้นส่วนรถยนต์-อาหารแช่แข็ง-เกษตรแปรรูป ฯลฯ) และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน ได้แก่ หุ้นได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่สูงขึ้น : PTTEP , SPRC , TVO , BANPU , SCC , IVL หุ้นรับผลบวกการลงทุน-ใช้จ่าย ภาครัฐ หรือ Domestic Play : CPALL , GLOBAL หุ้นที่ราคาลงมามาก Laggard : BBL หุ้นมี Dividend Yield สูง : KGI หุ้นที่มีประเด็นบวกอื่นๆ หรือราคาลงมามาก : BCH , CPF , TACC , HANA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ