"อภิชัย"มองโอกาสซื้อแบรนด์อาหารเพิ่มหลังเข้าถือ HOTPOT, วางเป้ารายได้ TFD 4 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 16, 2017 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชัย เตชะอุบล รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) เปิดเผยว่า ล่าสุดตนได้เข้าไปถือหุ้นของ บมจ.ฮอท พอท (HOTPOT) ในสัดส่วน 22.26% และ TFD เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 2.24% รวมเป็น 24.50% ซึ่งการเข้าไปร่วมถือหุ้นในครั้งนี้ถือเป็นการเข้าไปร่วมมือกับกลุ่มผู้บริหารเดิมในการผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น

สำหรับนโยบายในปี 60 จะเน้นที่การปรับปรุงสาขาร้านอาหารจำนวน 150 สาขา ที่มาจากทั้ง 3 แบรนด์ คือ ฮอท พอท ,ไดโดมอน และซิกเนเจอร์ สเต็ก ลอฟท์ โดยจะทำการรีแบรนด์และปรับปรุงคุณภาพภาพอาหารด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีการคัดสรรชั้นดี เพื่อเพิ่มความพรีเมี่ยมให้กับแบรนด์มากขึ้น

นอกจากนี้ จะมีแผนในการเปิดสาขาต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเริ่มที่ประเทศอังกฤษ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำร้านอาหารที่เป็นการซื้อแบรนด์จากอังกฤษมาหลายแบรนด์ อาทิ ซินยอร์ ซาสซี่ (Signor Sassi) ร้านอาหารสไตล์อิตาเลี่ยนแท้ ที่เปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน และยังเตรียมเปิดอีก 1 แบรนด์คือ เบอร์เกอร์แอนด์ล็อบสเตอร์ (Burger&Lobster) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมาก มีจำนวนสาขาในลอนดอนถึง 15 สาขา และยังมีสาขาในประเทศต่างๆทั่วโลกอีกจำนวนมาก

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีภัตตาคารอาหารจีนเจิ้งโต่ว แกรนด์ ตั้งอยู่บน ชั้น 37 โรงแรมอนันตราสาทร ซึ่งก็จะนำแบรนด์ร้านอาหารต่างๆที่มีมาสร้างความหลากหลายให้เกิดผลดีร่วมกันมากขึ้น รวมถึงอาจจะซื้อแบรนด์อื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเข้ามาหากพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมว่าสามารถที่จะสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนธุรกิจของ TFD นั้น เมื่อปลายปี 2559 ได้มีการเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทำให้ได้รับเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 700 ล้านบาท จึงส่งผลให้อัตราส่วน D/E Ratio ภายหลังจากการเพิ่มทุนลดลงจาก 5.13 เท่าเหลือเพียง 3.42 เท่า และ Net D/E Ratio เหลือเพียง 2.81 เท่าเท่านั้น จึงทำให้ TFD มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก

ในปี 60 บริษัทยังคงตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 4,000 ล้านบาท และจะเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ ซึ่งรายได้จะมาจากการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามในสัญญาพัฒนาโครงการ TFD เฟส 2 กับ กนอ.แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการพิจารณา EIA คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 นี้ แม้ว่าในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม จะยังไม่เปิดขายโครงการมหาดเล็กหลวง 2 เรสซิเดนท์ ซึ่งเป็นที่ดินเช่ากับพระคลังข้างที่ จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะเปิดขายได้ในไตรมาส 2/60 เนื่องจากมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

เบื้องต้นศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคารไว้ก่อนโดยพิจารณาใน 2 ประเด็นว่า ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้างได้ขออนุญาตในนามของสำนักงานพระคลังข้างที่ซึ่งไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเป็นเพียงหน่วยงานในสำนักพระราชวังเท่านั้น ที่ถูกจะต้องขอในนามของสำนักพระราชวัง อันนี้แก้ไขได้ง่าย โดยสำนักพระราชวังได้ยื่นขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นผู้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างเองแล้ว

ส่วนประเด็นเรื่องที่ศาลพิจารณาว่า การพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานครให้โดยพิจารณาจากโฉนดที่ดินว่าติดถนนราชดำริซึ่งเป็นถนนสาธารณะไม่ถูกต้อง จะต้องใช้ถนนหน้าโครงการซึ่งคือซอยมหาดเล็กหลวง 2 ว่าเป็นทางสาธารณะ ซึ่งกรณีนี้บริษัทไม่เห็นด้วย เพราะที่ดินแปลงนี้บนเนื้อที่ประมาณ 67 ไร่ จะแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงเพื่อใช้ปลูกสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ในซอยมหาดเล็กหลวง 1,2,3 ซึ่งเป็นถนนซอยส่วนบุคคลที่ให้ผู้เช่าที่ดินทุกแปลงบนโฉนดที่ดินของสำนักพระราชวังใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงต้องใช้ถนนสาธารณะหน้าที่ดินคือถนนราชดำริเท่านั้น

"ที่ผ่านมาเกณฑ์การพิจารณาในการออกใบอนุญาตก่อสร้างก็เป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดทุกอาคาร ไม่มีอะไรแตกต่างกันไป ซึ่งโครงการของบริษัทในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง พระคลังข้างที่ก็ยื่นขออนุญาตโดยทำเหมือนกับที่เคยทำมาในอดีตไม่มีอะไรผิดไปจากเดิม ซึ่งถ้าหากใบอนุญาตของบริษัทใช้ไม่ได้ก็เท่ากับว่าใบอนุญาตก่อสร้างของอาคารอื่นที่อยู่ในถนนซอยเหมือนกับโครงการของบริษัทก็จะใช้ไม่ได้ไปด้วยเหมือนกัน"นายอภิชัย กล่าว

ฉะนั้น บริษัทก็จะใช้สิทธิอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองกลางต่อไป บริษัทไม่ได้กังวลกับการระงับการก่อสร้างในช่วงนี้ เพราะโครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการมากมายเพียงแต่เพิ่งเคลียร์พื้นที่และเริ่มตอกเสาเข็มไปแค่ไม่กี่ต้น ก็แค่หยุดทำโครงการไปเพียงโครงการเดียวเท่านั้น บริษัทก็เอาเวลาไปดูแลกับโครงการอื่น จึงไม่มีผลกระทบอะไรกับ TFD

อย่างใรก็ตาม ภายในปี 60 บริษัทจะมีรายได้จากการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยบริษัทจะนำสินทรัพย์ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัททั้งในและต่างประเทศ จำนวน 12 โรงงาน ขายเข้ากอง REIT โดยตั้งเป้าหมายกอง REIT ไว้ที่ 1,000–1,200 ล้านบาท ก็จะสนับสนุนให้รายได้รวมในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ