SCB EIC เชื่อปัญหาผู้ค้าเหล็กผิดนัดหนี้หุ้นกู้-B/E ไม่ลุกลาม เตือนเน้นบริหารสภาพคล่อง-ก่อหนี้ในระดับเหมาะสม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 27, 2017 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่าในบทวิเคราะห์"จับตาผู้ค้าเหล็กผิดนัดชำระหนี้ ส่งสัญญาณลุกลามหรือไม่"ว่า การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ค้าเหล็กรายหนึ่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะลุกลามไปยังผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรม ในวันที่ 11 ม.ค.60 ผู้ค้าท่อเหล็กและเหล็กรูปพรรณรายหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยว่าไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ หุ้นกู้ และตั๋วแลกเงิน (B/E) ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทได้เสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ในวันที่ 24 ม.ค.60 แล้ว แต่การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลว่าเหตุการณ์จะลุกลามไปยังผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่

SCB EIC เห็นว่าการขาดสภาพคล่องและการก่อหนี้ในระดับสูงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการผิดชำระหนี้ การชะลอตัวของภาคการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้ค้าเหล็กรายดังกล่าวต้องเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งสะท้อนจากวงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle) ที่ยาวถึง 340 วัน โดยเฉพาะระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยที่สูงถึง 300 วัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2016 ประกอบกับการเลือกใช้แหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้ในระดับสูง (D/E Ratio 2.5 เท่า) และความล้มเหลวในการเพิ่มทุน จึงทำให้บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ที่ก่อขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าเหล็กในภาพรวมของอุตสาหกรรมยังคงมีสภาพคล่องที่ดี ขณะที่ระดับของการก่อหนี้ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่สูงมากนัก เมื่อพิจารณาผู้ค้าเหล็กจำนวนหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจคล้ายกับบริษัทดังกล่าว พบว่ามีวงจรเงินสดโดยเฉลี่ยเพียง 75-120 วัน เท่านั้น ขณะที่การก่อหนี้ก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก (D/E Ratio เฉลี่ย 1.3 เท่า) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้เป็นปัญหาเฉพาะรายบริษัทเท่านั้น และยังไม่มีสัญญาณที่จะลุกลามไปยังผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

SCB EIC แนะผู้ค้าเหล็กควรให้ความสำคัญในการบริหารสภาพคล่องและควรก่อหนี้ในระดับที่เหมาะสม ผู้ค้าเหล็กควรบริหารสภาพคล่องด้วยวิธีการ ดังนี้ 1) ควบคุมสต็อกสินค้าไม่ให้สูงจนเกินไป ด้วยการลดปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่ได้รับคำสั่งซื้อ และ 2) ติดตามการเก็บเงินจากลูกหนี้ให้ตรงตามระยะเวลา โดยอาจให้ส่วนลดเงินสด เพื่อให้ระยะเวลาการจัดเก็บหนี้สั้นลง วิธีการดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นจากการมีวงจรเงินสดที่สั้นลง ในส่วนของระดับการก่อหนี้นั้น บริษัทควรประเมินศักยภาพในการก่อหนี้ของตนเอง ผ่านการเปรียบเทียบกับผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบว่าระดับการก่อหนี้ของตนนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ