กลุ่มน้ำมัน PTT จัดงบ 1 หมื่นลบ.ปีนี้ขยายปั๊ม-ปรับปรุงระบบคลัง,เจรจาพันธมิตรทำโรงแรมในปั๊มสรุป Q1/60

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 31, 2017 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจน้ำมันเตรียมงบลงทุนรองรับขยายธุรกิจในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โดยจัดสรรลงทุนในปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศเพิ่มเป็นกว่า 1,600 แห่ง จาก 1,500 แห่งในปีที่แล้ว และขยายสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศ เป็น 240 แห่ง จาก 180 แห่ง ขณะที่มีเป้าหมายจะมีสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศเป็น 500 แห่งใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีอยู่ในลาว,กัมพูชา และฟิลิปปินส์ รวมถึงการใช้งบเพื่อปรับปรุงระบบคลังน้ำมันด้วย

รวมทั้งในอนาคตบริษัทมีแผนจะลงทุนธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ภายในสถานีบริการน้ำมันด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าของ chain โรงแรมหลายรายเพื่อหาข้อตกลงในเบื้องต้น คาดว่าจะสรุปผลคัดเลือกพันธมิตรเพียงรายเดียวภายในไตรมาส 1/60 หลังจากนั้นจะเจรจารายละเอียดของการร่วมลงทุนอีกครั้ง คาดว่าจะได้เห็นโรงแรมแห่งแรกเปิดบริการในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ในปี 61

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนขยายสาขาร้านกาแฟ"คาเฟ่ อเมซอน"ออกไปในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก จากปัจจุบันได้มีการขายมาสเตอร์แฟรนไชส์ในลาวและกัมพูชาแล้ว และได้ขายสิทธิแฟรนไชส์ คาเฟ่ อเมซอน ในญี่ปุ่นแล้ว 1 แห่ง ในจังหวัดฟุคุชิม่า และเตรียมที่จะขยายสาขาอีก 3-4 แห่งในโอซาก้า

ขณะที่ล่าสุดได้เจรจากับโอมาน ออยล์ ซึ่งเป็นคู่ค้าน้ำมันดิบกับ ปตท.ที่มีแผนจะเปิดร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ภายในอาคารสำนักงาน และสถานีบริการน้ำมันในโอมาน ราว 2-3 แห่ง คาดว่าจะได้เห็นในปีนี้ราว 2 แห่ง เบื้องต้นจะเป็นลักษณะการขายสิทธิแฟรนไชส์ก่อน และหากพบว่ามีศักยภาพก็จะขยายเป็นรูปแบบของมาสเตอร์แฟรนไชส์ต่อไป ทั้งนี้ การขยายตลาดของร้านกาแฟดังกล่าว ทำให้ ปตท.วางแผนที่จะขยายกำลังผลิตของโรงคั่วกาแฟอีกราว 2 เท่าของปัจจุบันด้วย

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ภาพรวมของตลาดน้ำมันในปีนี้น่าจะกลับมาเติบโตในระดับปกติที่ราว 2-3% จากที่ตลาดเติบโตมากในปีที่แล้ว ซึ่งปริมาณการขายของ ปตท.ก็น่าจะอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาด เนื่องจากตลาดน้ำมันน่าจะกลับมาสู่สมดุล หลังจากที่ในปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

อีกทั้งการปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ราคา LPG ภาคขนส่งปรับตัวสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันเบนซินทดแทน ซึ่งในปีนี้ปัจจัยต่าง ๆ ได้สะท้อนไปหมดแล้ว และแนวโน้มราคาน้ำมันในปีนี้จะสูงขึ้น โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ ในปีนี้อยู่ที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากกว่า 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว

ขณะที่ยังต้องจับตาการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน สำหรับเที่ยวบินในประเทศ และการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ซึ่งจะมีผลต่อการใช้น้ำมันอากาศยานภายในปีนี้ด้วย

"ปีที่ผ่านมาทุกอย่างเริ่มเข้าสมดุลแล้ว แต่ละชนิดน่าจะกลับมาโตใกล้เคียงกัน ที่คน switch จาก LPG มาเบนซินก็หมดแล้ว ฉะนั้นเบนซินก็จะโตไม่หวือหวาเหมือนปีที่แล้ว ยกเว้นน้ำมันอากาศยานที่ต้องดูว่ารัฐบาลจะโปรโมทเรื่องท่องเที่ยวเรื่องเดินทางมากน้อยแค่ไหน ตัวน้ำมันอากาศยานเป็นตัว swing เหมือนกัน ส่วนการขึ้นภาษีน้ำมันอากาศยานก็คงทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น แล้วจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางของคนหรือเปล่า ก็คงต้องตามดู...ถ้ารัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็โอเค สายการบินระหว่างประเทศไม่ได้เก็บภาษีน้ำมันอยู่แล้ว ถ้าโปรโมทให้มีสายการบินระหว่างประเทศมาลงเยอะ ๆ ก็อาจจะไม่กระทบกระเทือน"นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศช่วง 11 เดือนแรกของปี 59 พบว่าปริมาณการใช้ของตลาดรวมเติบโต 4% ขณะที่ปริมาณขายของ ปตท.เติบโตกว่า 5% โดยปริมาณการใช้น้ำมันเติบโตมากในกลุ่มเบนซินที่ตลาดรวมขยายตัว 10% และ ปตท.ขยายตัว 12-13%, ดีเซล ตลาดรวมเติบโต 3.5-3.6% ซึ่งปตท.ก็เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ส่วนน้ำมันอากาศยานตลาดรวมเติบโตกว่า 7% ขณะที่ ปตท.เติบโตกว่า 12% ซึ่งเป็นการขยายตัวตามสายการบินโลว์คอสที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนปริมาณการใช้ LPG ของตลาดรวมหดตัว 5% โดยปริมาณขาย LPG ของปตท.ลดลง 3% แต่ในปีนี้คาดว่าปริมาณขาย LPG จะไม่ติดลบ หลังปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเริ่มเข้าสู่สมดุลแล้ว

ขณะที่ด้านส่วนแบ่งตลาดช่วง 11 เดือนแรกของปีที่แล้ว ปตท.มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาที่ 40.3% จากระดับ 39.9% ในปี 58 หลังตลาดน้ำมันมีการแข่งขันมาก แต่ ปตท.มีแผนจะรักษาส่วนแบ่งตลาดในระดับ 40% ต่อไป โดยไม่ได้มุ่งเน้นการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จะมุ่งการให้บริการที่ครบวงจร กับผู้เดินทางทุกกลุ่ม และชุมชนรอบ ๆ ด้วย ซึ่งจะดำเนินการในลักษณะของ community center

ด้านความคืบหน้าในการโอนกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกให้กับบริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) นั้น ขณะนี้ได้นำเสนอเรื่องต่อกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แต่ในเบื้องต้นเมื่อมีข้อสังเกตจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการแยกธุรกิจดังกล่าวออกจาก ปตท.นั้น ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างประสานกับ ปตท.เพื่อทำความเข้าใจกับ สตง.ต่อไป

ส่วนเรื่องดังกล่าวจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท.ในเดือนเม.ย.นี้หรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ ครม.ก่อน แต่หากไม่ทันการพิจารณาของผู้ถือหุ้นในรอบเดือน เม.ย.นี้ ก็สามารถนัดวันประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาใหม่ได้

สำหรับสายงานที่จะแยกออกไปอยู่ PTTOR ได้แก่ สายงานตลาดค้าปลีก ,สายงานตลาดพาณิชย์ ,สายงานต่างประเทศ ,สายงานหล่อลื่น ซึ่งรวมถึงระบบคลังน้ำมันทั่วประเทศ ยกเว้นคลัง LPG ขนาด 2.5 แสนตัน/เดือนที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับการผลิต LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยเบื้องต้นสินทรัพย์ของ PTTOR มีมูลค่าราว 6.7 หมื่นล้านบาท โดยมีคลังน้ำมันทั่วประเทศเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากสุด

"เรามองว่าช่วงนี้ได้เวลาแล้วที่จะสามารถไปแข่งขันเสรี ทั้งที่ระบบเสรีมานานแล้ว เพียงแต่สมัยก่อนมีผู้ค้าน้อยราย แต่ตอนนี้ผู้ค้าน้ำมันเยอะแยะไปหมด ผู้ค้าน้ำมันตอนนี้มี 40 กว่าราย มาร์เก็ตแชร์ฝรั่งแต่ก่อน 80% ปตท.ก็ต้องยืนอยู่เพื่อคานโน่นนี่นั่น แต่ตอนนี้ฝรั่งโดน dilute เหลือไม่ถึง 30% แล้ว เรื่องการแข่งขันไม่เพียงพอ เรื่อง protect คนไทยเพราะฝรั่งจะมาครอบงำตลาด ตอนนี้ไม่มีแล้วข้อห่วงใยตรงนั้น ก็ได้เวลาแล้วที่เราจะแข่งขันเหมือนคนอื่นเขา เพราะภาพตอนนี้ก้ำกึ่ง การมีมาร์เก็ตแชร์ 40% เพราะอาศัยข้อได้เปรียบจากการเป็นรัฐวิสาหกิจมาเอาเปรียบชาวบ้าน ความจริงไม่ใช่ แต่อธิบายยากถ้าธุรกิจน้ำมันยังอยู่กับตัวแม่อยู่"นายอรรถพล กล่าว

อนึ่ง ปตท.มีแผนจะปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของกลุ่ม โดยการโอนธุรกิจในกลุ่มให้กับ บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือน พ.ย.59 โดย PTT เตรียมที่จะนำเสนอเรื่องต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆตามขั้นตอน โดยมีเป้าหมายจะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย ปตท.จะลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 45-50% จากเดิม 100% เพื่อลดบทบาทของการเป็นรัฐวิสาหกิจลง

นายอรรถพล กล่าวถึงนโยบายที่รัฐบาลจะเปิดเสรีนำเข้า LPG ว่า เป็นสิ่งที่ดีในการสะท้อนต้นทุนจริง โดยการนำเข้าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้า LPG จำนวนมากเพราะมีการบิดเบือนตลาด แต่พอทำให้ราคาสะท้อนความเป็นจริง ก็จะพบว่าตลาด LPG กลับมาติดลบในปีที่แล้ว ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด

แต่หากจะมีรายใหม่นำเข้า LPG มาแข่งในประเทศได้ก็เป็นสิ่งที่ดีต่อผู้บริโภคที่จะได้ประโยชน์ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาต่อ ปตท.และความมั่นคงของประเทศ เพราะปัจจุบันมีการผลิต LPG ได้ทั้งจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมัน และมีสาธารณูปโภคที่พร้อมรองรับการนำเข้ามาอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันการใช้ LPG ในประเทศมีเกินปริมาณการผลิตอยู่เพียงเล็กน้อย ทำให้ต้องนำเข้าในปริมาณไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่วง 4-5 ปีก่อนที่มีการนำเข้ามาในปริมาณที่มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ