รัฐเร่งหาความชัดเจนกรณีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมหลังมีปัญหาพื้นที่ส.ป.ก.,โบรกฯแนะรอผลสรุปก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 1, 2017 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หน่วยงานภาครัฐเร่งหาข้อสรุปความชัดเจนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม หลังล่าสุดมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีไม่ให้เช่าพื้นที่ส.ป.ก.เพื่อติดตั้งกังหันลมสำหรับโครงการพลังงานลมของ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ขณะที่พื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานลมในไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ ส.ป.ก.โดยล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้หารือเบื้องต้นและประสานงานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อหาความชัดเจนการพัฒนาโครงการลมของประเทศ ซึ่งล่าสุดคาดว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินส่วนกลาง จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้า

ขณะที่ราคาหุ้นของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนทรงตัวถึงร่วงลง นำโดยหุ้น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ร่วงลงกว่า 9% ,บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ลดลง 1.98% ,บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) และบมจ.เด็มโก้ (DEMCO) ลดลง 1.26% ส่วนหุ้นบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ปรับขึ้น 3.74% หลังยืนยันโครงการพลังงานลมของบริษัทไม่ได้อยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ.กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ที่ประชุม กกพ.วันนี้ได้หารือเบื้องต้นถึงผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับหน่วยงานรัฐแล้ว 1,586 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งในส่วนนี้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกว่า 300 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่ตั้งโครงการส่วนใหญ่เป็นที่เช่าในพื้นที่ ส.ป.ก. โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเบื้องต้นทาง กกพ.ได้ประสานงานกับ ส.ป.ก.เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ โดยได้รับทราบว่าทาง ส.ป.ก.จะนัดหารือกรณีดังกล่าวภายในปลายสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า ซึ่ง กกพ.ก็จะรอความชัดเจนจากส.ป.ก.ก่อนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

"เราให้เจ้าหน้าที่ประสานหารือกับ ส.ป.ก.ว่าจะทำอย่างไร หลังมีกรณีของเทพสถิต ซึ่งเป็นการฟ้องรายเดียวไม่ใช่ทั่วไป ซึ่งกรณีนี้จะเป็นพื้นที่ทุกผืนหรือเปล่า ให้เจ้าหน้าที่ประสานกับ ส.ป.ก.ว่าการที่เราให้ใบอนุญาตไปแล้วจะทำอย่างไร และส่วนที่ยังรอการอนุญาตจะทำอย่างไรต่อไป ณ วันนี้ยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ได้ยินว่าทาง ส.ป.ก.อาจจะประชุมวันศุกร์นี้ เราคงต้องรอตรงส่วนนั้นก่อน แล้ว กกพ.คงต้องคุยกันอีกที"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการอนุญาตสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้น หน่วยงานรัฐได้มีการหารือกันและส.ป.ก.ก็ได้มีการออกระเบียบตั้งแต่ช่วงปี 51-52 ว่าพื้นที่ ส.ป.ก.สามารถให้เช่าเพื่อทำโครงการได้ ซึ่งทาง กกพ.ก็ได้ยึดหลักดังกล่าวมาใช้ในการออกใบอนุญาตที่มีเอกชนยื่นขอพัฒนาโครงการในพื้นที่ ส.ป.ก.เข้ามา แต่หลังจากนี้คงต้องรอความชัดเจนจากทาง ส.ป.ก.ก่อน เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกันต่อไป

อนึ่ง ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรายใหญ่ของไทย คือ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ที่ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตรวม 930 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว 660 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ดำเนินโครงการแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ ห้วยบง 2 และ 3 รวม 180 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น (REC) ถือหุ้นใหญ่ใน WEH จำนวน 63% ขณะที่ DEMCO ถือหุ้นใน WEH จำนวน 4%

ขณะที่โครงการห้วยบง 2 และ 3 นอกจากจะมี WEH ถือหุ้นแล้ว ยังมีบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 20%

ด้านแหล่งข่าวจาก DEMCO กล่าวว่า การลงทุนในโครงการพลังงานลมของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนตามสัดส่วนที่ถือหุ้นใน WEH ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก และไม่ใช่ผู้ถือหุ้นหลักของโครงการ ส่วนคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาจะมีผลต่อการพัฒนาโครงการพลังงานลมต่อไปหรือไม่นั้น คงต้องรอดูความชัดเจนจากภาครัฐก่อนว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อคำสั่งของศาลฯที่ออกมาในครั้งนี้ ขณะที่พื้นที่การใช้พัฒนาโครงการส่วนใหญ่ได้ดำเนินการถูกต้องตามเกณฑ์ของส.ป.ก.ในการอนุญาตใช้พื้นที่อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม นอกจากจะอยู่ในกลุ่มของ WEH แล้ว ยังมีโครงการของกลุ่ม GUKUL จำนวน 3 โครงการ รวม 170 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จ.นครราชสีมา ซึ่งล่าสุด GUNKUL ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ใช้พื้นที่ส.ป.ก.ในการพัฒนาโครงการ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ GUNKUL อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าร่วมทุนกับผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งหลังจากมีกรณีคำสั่งศาลฯเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ส.ป.ก.ครั้งนี้ต้องติดตามต่อไปว่าจะกระทบต่อการเจรจาโครงการดังกล่าวหรือไม่

ขณะเดียวกันยังมีโครงการพลังงานลมของกลุ่ม EGCO อีก 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเทพพนา วินด์ฟาร์ม ในต.วะตะแบก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อปี 56 และโรงไฟฟ้าชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม ในอ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเพิ่งจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อ 16 ธ.ค.59 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบจากบริษัทว่าได้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการพัฒนาโครงการทั้งสองหรือไม่

ส่วน EA เป็นผู้โครงการพลังงานลมรายใหญ่อีกหนึ่งราย โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการหนุมาน ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลมขนาด 260 เมกะวัตต์ (MW) มีมูลค่าการก่อสร้างราว 2 หมื่นล้านบาท และมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 61 และ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) มีโครงการพลังลมในอ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเช่นกัน

ด้านนักวิเคราะห์จาก บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องกับโครงการพลังงานลม ได้รับผลกระทบกรณีคำสั่งของศาลฯที่มีออกมา ทำให้ช่วงสั้นแนะนำให้รอความชัดเจนจากภาครัฐก่อนการเข้าลงทุน ส่วนนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่แล้ว หากอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีผลประกอบการดีและไม่ได้มีรายได้หลักการผลิตไฟฟ้าจากโครงการพลังงานลมในประเทศ ก็ยังไม่น่าห่วง

สำหรับหุ้น EA ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวค่อนข้างมาก เนื่องจาก EA อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการหนุมาน ซึ่งมีขนาดมากถึง 260 เมกะวัตต์ จากโครงการที่มีอยู่ในมือทั้งหมด 664 เมกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 61 นั้น คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้กับ EA ในสัดส่วนราว 22% ในปี 62

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยกรณีมีผู้ฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและสัญญาทางปกครอง โดยมีเลขาธิการ ส.ป.ก. ,คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ และบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยศาลปกครองสูงสุด ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ ที่เห็นชอบกำหนดให้พื้นที่ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1บี ตามติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เป็นพื้นที่เพื่อกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้า และให้บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการกิจการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าโดยวิธีการเช่า

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโครงการกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ไม่ใช่กิจการที่เป็นการบริการ หรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน อันไม่เข้าลักษณะตามความของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ