"ทีโอที" หาพันธมิตรคลื่น 2300 MHz เปิดรับเอกสารแสดงเจตจำนง 10-15 ก.พ. ก่อนยื่น 27 มี.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 7, 2017 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ทีโอที จะเปิดสรรหาคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิร์ตช์ (MHz) ช่วง 2310-2370 เมกะเฮิร์ตช ซึ่งทีโอทีได้รับสิทธิการใช้คลื่นดังกล่าวนั้น โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้ามารับเอกสารแสดงความจำนงเข้าเป็นคู่ค้าได้ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นให้มายื่นเอกสารในวันที่ 27 มีนาคม 2560 สำหรับเกณฑ์ในการเลือกทีโอทีจะคัดเลือกเพียงบริษัทเดียว โดยจัดลำดับผู้มายื่นจากแผนธุรกิจที่สอดคล้องกับทีโอทีมากที่สุด สามารถสร้างมูลค่ากิจการ และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้กับ ทีโอที

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถคัดเลือกพันธมิตรเพื่อเป็นคู่ค้ากับทีโอทีได้ภายใน 60 วัน หลังจากนั้นจะส่งสัญญาให้หน่วยงานตรวจสอบสัญญาของภาครัฐทำการตรวจสอบ และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาได้ในไตรมาส 3/60

เบื้องต้น ทีโอทีได้ทำหนังสือเชิญผู้ให้บริการ 5 คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ,บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ,บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ,บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด และบริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด เข้ามารับทราบข้อมูลและร่วมเสนอตัวเป็นคู่ค้า

สำหรับรูปแบบการให้บริการนั้นทีโอที จะนำความจุไปให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) ร้อยละ 20 ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกลเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการให้ประชาชนคนไทยทุกภาคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิดธ์ทั้ง 60 เมกะเฮิร์ตซ์ ของคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตช์ บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) ร้อยละ 20 เป้าหมายคือกลุ่มลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมืองผ่านอุปกรณ์ดองเกิล (Dongle) สำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิม และบริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวนร้อยละ 60

ภายหลังการคัดเลือกคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดได้แล้ว ตามแผนธุรกิจคู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4G/LTE ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตช์ เต็มทั้ง 60 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยมีเป้าหมายในการวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่สามารถรองรับลูกค้า โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้งและเปิดให้บริการภายในปีแรกไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้น จะเพิ่มจำนวนไปตามประมาณการผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ภายใน 1 ปีหลังจากเลือกบริษัทคู่ค้าจะต้องติดตั้งอุปกรณ์และเริ่มให้บริการภายใน 1 ปี

ด้านนายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร ของ DTAC กล่าวว่า บริษัทได้รับเชิญเข้าร่วมรับเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) ในการเป็นคู่ค้าการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่บนคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ กับทีโอที ซึ่งบริษัทก็พร้อมเข้าร่วมรับเอกสารเชิญชวนซึ่งเป็นการนำคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ มาใช้ประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประชาชน ด้วยความโปร่งใส และถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการร่วมผลักดันประเทศไทยในการเดินหน้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0

"ดีแทครู้สึกยินดีที่จะร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อก้าวสู่จุดหมายร่วมกัน สำหรับคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ ดีแทคเชื่อมั่นว่าสามารถจะนำมาให้บริการสื่อสารดิจิตอลให้ลื่นขึ้น เร็วขึ้น สำหรับลูกค้าได้ทันที และจะนำไปสู่เป้าหมายในปี 2563 ที่จะก้าวสู่ผู้นำด้านดิจิตอลในประเทศไทย"นายภารไดย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ