(เพิ่มเติม1) กพช.มีมติให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เหตุคุ้มค่า-ปลอดภัย, ITD ยังจ่อเซ็นรับงานก่อสร้าง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 17, 2017 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กพช.มีมติให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไปตามขั้นตอน หลังล่าช้ามากว่า 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบมีความคุ้มค่าและมีความปลอดภัย

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช.เห็นว่าขณะนี้พื้นที่ภาคใต้มีความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงกว่าทุกภาค จึงจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยมองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีความคุ้มค่าและคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ฝากทุกฝ่ายช่วยลดความขัดแย้งให้มากที่สุด รวมทั้งขอร้องมวลชนอย่าออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการดังกล่าว

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุม กพช.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ หากเกิดกรณีวิกฤตหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่หยุดกระทันหันจะส่งผลให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ

สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 62 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 64 แต่เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังไม่เห็นด้วย ทำให้ กฟผ.ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามแผน

ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้เสร็จก่อน และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 61 และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างช้าสุดประมาณปลายปี 64 หรือต้นปี 65

สำหรับในส่วนการประมูลที่ทางบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่ได้งานก่อสร้างไปแล้วนั้น คงมีผลตามเดิม ไม่ต้องล้มเลิก

"ผมก็บอกแล้วว่า 2 ปีโปร่งใสมาตลอด ยังมีประมูลอย่างอื่นได้อีก เช่นเ เชื้อเพลิงถ่านหิน"พล.อ.อนันตพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กพช.ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้คัดค้าน โดยแยกประเด็นว่าคัดค้านเรื่องใด เพื่อแก้ไขและทำความเข้าใจให้ตรงจุดที่สุด แต่ถ้าคัดค้านตามอุดมการณ์ที่ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นเลยทุกพื้นที่ก็ต้องทำความเข้าใจถึงโลกแห่งความเป็นจริงที่ประเทศจะต้องบริหารความเสี่ยงของเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ