WHA ตั้งงบลงทุนปีนี้ 7 พันลบ.ขยายธุรกิจ 4 Hub พร้อมต่อยอด EEC,เดินหน้าคลังสินค้าอินโดฯ-นิคมฯเวียดนาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 7, 2017 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปี 60 ที่ราว 7 พันล้านบาท จากงบลงทุนตามแผน 5 ปี (ปี 59-63) จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจ 4 กลุ่มหลัก (Hubs) ประกอบด้วย ธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistics Hub), ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Hub) ,ธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า (Utility & Power Hub) และธุรกิจดิจิตอล (Digital Hub) ในไทย พร้อมเตรียมต่อยอดรองรับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงมีแผนเดินหน้าขยายคลังสินค้าในอินโดนีเซีย ระยะที่ 2 ช่วงกลางปีนี้ ตลอดจนเริ่มลงทุนสาธารณูปโภคนิคมฯในเวียดนาม ก่อนจะเริ่มเปิดขายโครงการไตรมาส 1/61

"เงินลงทุน 4 Hub ปีนี้เราตั้งงบไว้ 7 พันล้านบาท เราใช้ไม่เยอะเพราะที่ดินเราไม่ต้องซื้อ ใช้ในนิคมฯกว่า 2 พันล้าน โลจิสติกส์กว่า 2 พันล้าน Utility & Power พันกว่าล้าน ดิจิตอล ก็ 400-500 ล้านบาท ปีหน้าก็จะเพิ่มขึ้น เงินลงทุนมาจากผลประกอบการ เกิดจาก performance ปกติ เรามี EBITDA เข้ามาปีละ 7-8 พันล้านบาท ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน"นางสาวจรีพร กล่าวให้สัมภาษณ์"อินโฟเควสท์"

นางสาวจรีพร กล่าวว่า แผนธุรกิจโลจิสติกส์ในปีนี้บริษัทจะขยายคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าเพิ่มอีกกว่า 2 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) เป็น 2.3-2.4 ล้านตร.ม. ก่อนจะเพิ่มเป็นกว่า 3 ล้านตร.ม.ในปี 63 และมีแผนจะเริ่มทำคลังสินค้า เฟส 2 ในอินโดนีเซีย อีก 2 หมื่นตร.ม.ในกลางปีนี้ เนื่องจากมีความต้องการใช้ค่อนข้างมาก จากปัจจุบันที่มีเฟสแรกจำนวน 2.5 หมื่นตร.ม. แต่การขยายงานในอินโดนีเซียจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีกฎระเบียบจำนวนมาก

สำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายจะมียอดขายที่ดินปีนี้ 1,400 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก 800 ไร่ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการขายช่วงปี 59-60 ที่ระดับ 2,200 ไร่ ซึ่งในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันมียอดขายแล้วเกือบ 500 ไร่ และกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้ารายใหม่อีก 300-400 ไร่ และยอดโอนที่ดินปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มียอดโอนกว่า 500 ไร่เท่านั้น

ส่วนโครงการ EEC นั้นคาดว่ารัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าลงทุนพัฒนาทั้งโลจิสติกส์ และนิคมฯที่ปัจจุบันมีที่ดินที่จะจัดสรร 2,000 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา เพียง 18 กิโลเมตร (กม.) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อน ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดเป็นพื้นที่นิคมฯแห่งใหม่ เป็นแห่งที่ 10 ได้ในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีนิคมฯทั้งสิ้น 12 แห่ง และเปิดไปแล้ว 9 แห่ง รวม 35,000 ไร่ และยังคงมีพื้นที่เหลือรอการพัฒนาอีก 10,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในอีสเทิร์นซีบอร์ด

ด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามนั้น คาดว่าจะเริ่มเฟสแรก 3,000 ไร่ ด้วยเงินลงทุนราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงแรกจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในไตรมาส 2/60 ก่อนจะเริ่มขายที่ดินในไตรมาส 1/61 ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมด 20,000 ไร่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวลา 10 ปี เพื่อให้สามารถขายที่ดินได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 20 ปีท่ามกลางการเติบโตของเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน

นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า ธุรกิจ Utility & Power ซึ่งดำเนินการโดย บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนที่มีสัญญาซื้อขาย (PPA) ในมือรวม 540 เมกะวัตต์ ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 350 เมกะวัตต์ และปีนี้มีโรงไฟฟ้าใหม่อีก 4 แห่งจะเริ่มผลิต ทำให้มีกำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD เพิ่มอีก 128.8 เมกะวัตต์ และจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 1 แห่งในปี 61 จากนั้นในปี 62 จะมีกำลังผลิตที่ COD แล้วครบทั้ง 540 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าขายให้ลูกค้าใช้ภายในนิคมฯ เบื้องต้นทดลองทำโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า เริ่มต้นขนาด 1 เมกะวัตต์ เตรียมเปิดหาผู้รับเหมาในช่วงไตรมาส 3/60 รวมทั้งศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ขนาด 30-40 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนให้ลูกค้าในนิคมฯ มองว่าจะช่วยรองรับการเติบโตตามการขยายตัวนิคมฯของกลุ่มบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างในเวียดนาม เป็นต้น

ส่วนธุรกิจน้ำปัจจุบันมีการให้บริการทั้งน้ำดิบและน้ำอุตสาหกรรมรวมประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/ปี และมีโอกาสขยายออกไปนอกพื้นที่นิคมฯด้วยในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเติบโตตามลูกค้าแล้วยังเติบโตตามโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ด้วย เพราะมีความต้องการใช้น้ำจำนวนมาก โดยปัจจุบันธุรกิจน้ำจะรับรู้เป็นรายได้ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าจะรับรู้เป็นส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน

ส่วนความคืบหน้าการนำหุ้น WHAUP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมานับว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยทางที่ปรึกษาทางการเงินคาดว่าจะสามารถเปิดให้จองซื้อหุ้นที่เสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ปลายเดือนมี.ค.นี้ ก่อนจะนำหุ้นเข้าซื้อขายใน SET ราวต้นเดือนเม.ย.นี้

ด้านธุรกิจดิจิตอลคาดว่าจะสามารถเปิดดาต้า เซ็นเตอร์ 2 แห่งในกลางปีนี้ ซึ่งจะทำให้เริ่มมีรายได้เข้ามา ก่อนจะสร้างศักยภาพได้เต็มที่ในปีหน้า ขณะที่ตั้งเป้าจะมีโครงการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์รวม 3-5 แห่ง ในช่วงปี 59-63

นางสาวจรีพร กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะผลักดันรายได้ประจำ (Recurring income) ในปีนี้ให้เพิ่มเป็น 30% จาก 15% ในปีก่อน ซึ่งรายได้ประจำสร้างมาร์จิ้นได้มากกว่ารายได้ที่ไม่ประจำ (Non-Recurring income) และตั้งเป้าจะมีสัดส่วนรายได้ประจำและไม่ประจำ เป็น 50:50 ในปี 63

รายได้ประจำจะมาจากค่าบริการสาธารณูปโภคน้ำ,ไฟฟ้า,ค่าเช่าอาคาร ,การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งจะได้รับเงินปันผลกลับเข้ามา,การบริหารกอง REIT และธุรกิจดิจิตอล ส่วนรายได้ที่ไม่ประจำ ซึ่งมีมาร์จิ้นน้อยนั้น จะมาจากการขายที่ดินและการขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทมีกองทุนทั้งสิ้น 5 กองทุน ขนาดสินทรัพย์รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็นแตะระดับ 8 หมื่นล้านบาทในปี 63 โดยปีนี้มีนโยบายที่จะขายสินทรัพย์เข้ากองทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นกองทุนโลจิสติกส์ราว 3-4 พันล้านบาท/ปี และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) อีก 2 พันล้านบาท/ปี ซึ่งการขายเข้ากองทุนโลจิสติกส์ในปีนี้จะดำเนินการพร้อมกับการควบรวม 2 กอง REIT ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม (WHAPF) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

"ปีที่แล้วเรา peak มากเพราะขายเข้ากองรีทเยอะ แต่ยอดโอนที่ดินน้อย แต่ปีนี้เราจะโอนที่ดินเยอะ ขายเข้ากองรีทน้อยลง เพราะต้องการ Recurring income เพิ่มขึ้น สุดท้ายปีนี้จะเป็นปีตั้งต้นในการเพิ่มขึ้นของ Recurring income ที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 15% เพราะเราขายรีทเยอะมาก ปีนี้ Recurring income น่าจะเยอะขึ้นเพราะขายรีทแค่ 3-4 พันล้านบาท และ HREIT แค่ 2 พันล้านบาท ก็จะให้ Recurring income ปีนี้ขึ้นมา 30%"นางสาวจรีพร กล่าว

นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อใช้คืนหนี้เดิมและใช้ลงทุน แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับแผนใช้เงินลงทุนด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังมีเงินสดอยู่จำนวนมาก โดยมีเป้าหมายจะลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายเหลือราว 4% จากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.54% ขณะที่ยังมีหุ้นกู้คงเหลือจากที่ได้รับอนุมัติในปีที่แล้ว 7 พันล้านบาท ยังใช้ไม่หมดอีกบางส่วน และล่าสุดจะขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นเพื่อออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาท ทำให้น่าจะมีวงเงินออกหุ้นกู้เพิ่มได้อีกราว 9 พันล้านบาท

ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างมองหาการร่วมลงทุนและซื้อกิจการ (M&A) เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจใน 4 Hub คาดว่าปีนี้อาจได้เห็นดีล M&A ขนาดเล็กในประเทศ ซึ่งจะไม่กระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท นอกจากนี้ยังให้ความสนใจขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยให้ความสนใจลงทุนโลจิสติกส์ ,นิคมฯ และพลังงานในเมียนมา โดยคาดว่าเห็นภาพชัดเจนปลายปีนี้ ส่วนการลงทุนในลาวจะเน้นในเรื่องของธุรกิจพลังงาน ขณะเดียวกันยังมองโอกาสลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในกัมพูชาด้วย

นางสาวจรีพร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกองทุน Templeton ได้เข้ามาถือหุ้นเพิ่มในบริษัทเป็นกว่า 4% แล้ว หลังเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ซื้อหุ้นเพิ่มจากญาติรายหนึ่ง ซึ่งขายหุ้นออกไปบางส่วนเพื่อนำเงินไปจองซื้อหุ้น WHAUP แต่กลุ่มของตนเองยังคงถือหุ้นใน WHA สัดส่วนเกือบ 60%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ