ASIAN วางเป้าปี 63 ดันรายได้ 1.45 หมื่นลบ.เน้นเพิ่มสินค้ามาร์จิ้นสูงดันกำไร,ทำเครดิตเรตติ้งลดภาระดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 28, 2017 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด (ASIAN) วางแผนยาวถึงปี 63 ตั้งเป้าหมายผลักดันรายได้เติบโตแตะ 1.45 หมื่นล้านบาท จากปีนี้คาดทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตราว 10% จากปี 59 มั่นใจได้รับอานิสงส์อุตสาหกรรมกุ้งไทยฟื้นตัวได้ดีและเร็วกว่าประเทศอื่นมาก พร้อมวางกลยุทธ์เน้นการควบคุมคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานสากลหนุนขยายตลาดสินค้าเพิ่มมูลค่า (Value Added Product : VAP) เพื่อให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 10-12% จากที่อยู่ในระดับ 8.5% ในปี 59

นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด (ASIAN) กล่าวว่า บริษัทวางแผนผลักดันรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 1.45 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากธุรกิจกุ้งที่เชื่อว่ามีโอกาสทะลุ 6 พันล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับผลดีที่การผลิตกุ้งในไทยอาศัยเทคโนโลยีทันสมัยพลิกฟื้นสถานการณ์จากที่เกิดวิกฤติโรคระบาด EMS ที่ทำลายอุตสาหกรรมกุ้งในช่วง 2 ปีก่อนจากผลผลิตที่ดิ่งลงจาก 6 แสนตัน/ปี เหลือเพียง 2 แสนตัน/ปี ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งในธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งและธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ

ขณะนี้การผลิตกุ้งในไทยฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีการเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออก ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์จากกุ้งในตลาดโลกยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นสัญญาณที่ดีจากผลประกอบการของบริษัทที่ยอดขายเติบโตได้ถึง 25% ในช่วงไตรมาส 4/59 และยังมีแนวโน้มที่ดีในปีนี้จากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

"ปีนี้ ปีหน้า และปีต่อ ๆ ไปยังดีต่อเนื่องแน่นอน ด้วยผลผลิตที่ดีขึ้นเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้ธุรกิจกุ้งของไทยได้เปรียบคู่แข่ง อาหารกุ้งก็จะโตได้ดีตามมากับภาพรวม เราจึงเชื่อว่าปีนี้น่าจะโตได้มากกว่าคาด และยังจะดีมากขึ้นในปีถัด ๆ ไป"นายสมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนผลิตสินค้าประเภท VAP ออกมาวางตลาดมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดอาหารทะเลที่ต้นทุนมีความผันแปรไปตามฤดูกาล โดยบริษัทจะเน้นการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตเพื่อให้ได้รับมาตรฐานรับรองในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายตลาดได้ดีขึ้น

รวมทั้งจะสนับสนุนแผนเพิ่มสินค้าที่ให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) สูงมากและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ที่เติบโตได้ดีในตลาดยุโรป เช่น อังกฤษที่เป็นตลาดหลักสินค้า Pet Food ของบริษัท และอาหารสัตว์น้ำ (Feed) ที่มองการขยายไปถึงอาหารสัตว์ประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น ไก่ ทั้งนี้ เพื่อทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นเป็น 10-12% ในปี 63 จาก 8.5% ในปี 59

"เรามีงานต้องทำมากขึ้นในปีนี้ปีหน้า เราจะปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้รับการรับรองคุณภาพมาตราฐานสากล อย่างที่เราเคยทำผลิตภัณฑ์กุ้งสดเพื่อส่งให้ร้านซูชิ กุ้งจากฟาร์มเลี้ยงที่มาถึงโรงงานต้องยังเป็น ๆ เพราะจะไม่ได้ผ่านความร้อน ซึ่งทำได้ยากมาก แต่เราทำได้ ทำให้ได้ราคาที่ดี ลูกค้าก็ไม่สามารถหนีไปสั่งที่อื่นได้

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 63 วางเป้าหมายให้จะมาจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง 37% ของรายได้รวม ซึ่งลดลงจาก 43% ในปี 60 แต่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% จาก 19% , ธุรกิจทูน่า 11% ลดลงจาก 14%, ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำเพิ่มเป็น 15% จาก 12% , ธุรกิจจัดจำหน่ายลดลงเหลือ 7% จาก 10%

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รายได้หลักของบริษัทยังมาจากตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐ จีน ยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งในปึนี้บริษัทมีแผนจะเข้าไปตั้งสำนักงานขาย หรือ เต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในตลาดที่มีความสำคัญดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีโดยตรงต่อยอดขายแล้ว ยังจะช่วยให้บริษัทเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และเรียนรู้ตลาดได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย

พร้อมกันนั้น ในปีนี้บริษัทยังเตรียมแผนงานที่จะทำให้งบการเงินมีความแข็งแกร่ง โดยจะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้สามารถจัดการกับภาระทางการเงินทั้งหนี้เงินต้นและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้ภาระดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.5% ก็คาดหวังจะมีภาระดอกเบี้ยต่ำลง โดยบริษัทอาจจะพิจารณาแนวทางการออกหุ้นกู้ที่ในอดีตเคยทำมาแล้ว

ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาทในขณะนี้ แม้จะส่งผลกระทบกับบริษัทบ้าง เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่เป็นดอลลาร์ แต่บริษัทก็ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ทั้ง 100% แล้ว จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบกับภาพรวมผลประกอบการมากนัก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบส่วนหนึ่งก็เป็นดอลลาร์ด้วย โดยเฉพาะการนำเข้าทูน่าจากต่างประเทศ และการนำเข้าส่วนผสมอื่น ๆ จึงเชื่อว่าจะช่วยชดเชยได้อีกส่วนหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ