ทิสโก้ เชียร์ลงทุนตลาดญี่ปุ่นรับปัจจัยหนุนเศรษฐกิจฟื้น-เยนอ่อนค่า-บจ.ซื้อหุ้นคืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 25, 2017 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.ทิสโก้ กล่าวในงานสัมมนา“Japan Insight: เจาะลึกตลาดแดนอาทิตย์อุทัย ลงทุนอย่างไรให้กำไรเหนือกว่าตลาด"ว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในปีนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากการปฏิรูปเศรษฐกิจตามนโยบาย Abenomics ที่เริ่มเห็นผลชัดเจน และการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ รวมไปถึงการผลิตและการส่งออกที่ฟื้นตัวตามการค้าโลก นับเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะยาว

“ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้น บวกกับแนวโน้มค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ขณะที่ Valuations ในปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับไม่แพงมาก จึงนับเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนนอกจากนี้ ในปัจจุบัน นโยบายการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึง 5.7 ล้านล้านเยนในปี 2016 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006

และนโยบายการเข้าซื้อ ETF ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่ประมาณ 6 ล้านเยนต่อปี รวมถึงแนวโน้มการเข้าลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นของกองทุนบำเหน็จบำนาญรัฐบาลญี่ปุ่น(GPIF) ซึ่งเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นในประเทศเป็น 23.7% นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนในเดือน ต.ค.58 และมีโอกาสจะทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 25% ในอนาคต ทำให้มี Fund Flow จากนักลงทุนในประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง" นายสุพงศ์วร กล่าว

ทั้งนี้ บลจ. ทิสโก้กำลังเปิดตัวกองทุนใหม่ คือ “กองทุนเปิด ทิสโก้ เจแปน แอคทีฟ อิควิตี้" (TISCO Japan Active Equity: TISCOJPA) กองทุนรวมประเภท Fund of Funds ซึ่งเสนอขายครั้งแรก (IPO) ถึงวันที่ 28 เม.ย. 60 โดยเป็นกองทุนที่มีนโยบายบริหารเชิงรุก (Active Fund) ซึ่งจะลงทุนในกองทุน Japan Equity Fund บริหารโดย JPMorgan Funds และ Japan Smaller Companies Fund ซึ่งบริหารโดย Eastspring Investments อย่างละ 50% โดยทั้งสองเป็นกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนของทิสโก้คัดสรรมาเป็นอย่างดี เพื่อเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าดัชนีอ้างอิง

และเนื่องจากเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ