BCP คาด BCPG เข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดฯแล้วเสร็จส.ค.60

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2017 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ระบุว่า การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียของ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยนั้น จะแล้วเสร็จประมาณเดือนส.ค.60 หลังคณะกรรมการของ BCPG อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น 33.33% ในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (SEGHPL) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 357.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.23 หมื่นล้านบาท

"BCPG มีการลงทุนในโครงการใหม่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศฟิลิปปินส์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคมปีนี้"นายชัยวัฒน์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ BCPG คาดว่าการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/60 ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนได้ทันที เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว โดยการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้จะทำให้มีการลงทุนทางอ้อมในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียรวม 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 182 เมกะวัตต์ผ่านการซื้อหุ้นใน SEGHPL

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลดำเนินงานในไตรมาส 2/60 ของ BCPG จะมีปัจจัยบวกต่อผลการดำเนินงานจากการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) เพิ่มขึ้น และการรับรู้การผลิตไฟฟ้าเต็มทั้งไตรมาสของกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ที่เริ่มเดินเครื่องในไตรมาสแรกทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตไฟฟ้า

ประกอบกับ BCPG มีการลงทุนในโครงการใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์ โดยในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา BCPG ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท CAIF III Pte. Ltd. เพื่อเข้าซื้อเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท CapAsia ASEAN Wind Holdings Cooperatief U.A. ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ถือหุ้นในบริษัท PetroWind Energy Inc. ที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วขนาด 36 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 14 เมกะวัตต์ ในวงเงินไม่เกิน 28.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1 พันล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนไปยังภูมิภาค คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ