KTBST คาด SET วันนี้ยังเผชิญแรงขายจนกว่าปัจจัยกดดันเบาบางลง แนะเก็งกำไรช่วงสั้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 15, 2017 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินทิศทางมองตลาดหุ้นไทยวันนี้ (15 พ.ค.) ว่า ด้วยแรงขายที่เกิดขึ้นเฉพาะตลาดหุ้นไทย และเป็นการเลือกขายหุ้นบางตัว คาดจะกดดันตลาดหุ้นไปจนกว่าจะเบาบางลง แต่สำหรับปัจจัยต่างประเทศ และยังไม่มีข่าวในเชิงบวกของไทยเองเข้ามาในตลาด จึงคาดว่าดัชนีฯมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงจากวันก่อน

กลยุทธ์การลงทุน จากแรงขายและทิศทางที่ไม่ชัดเจนนักยังแนะนำให้ชะลอการลงทุน และอาจเลือกที่จะ “ลดพอร์ต" เพื่อลดความเสี่ยง หรือถือเงินสดรอซื้อหุ้นรอบใหม่กันต่อ สำหรับนักเก็งกำไรช่วงสั้น ควรเล่นแบบ “ลงซื้อ ขึ้นขาย" จนกว่าตลาดจะมีทิศทางที่ดีกว่านี้ สำหรับหุ้นที่คาดว่าอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุนในวันนี้ อาทิ INTUCH , SAWAD ,CPALL , LPH , BH , HANA

นายวิน กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทรงๆตัวหลังขาดปัจจัยหนุนต่อหลังผ่านการเดินหน้ามาตั้งแต่เดือน พ.ย.59 ความกังวลต่อการปลดผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) ยังมีอยู่ การรายงานผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้น เป็นปัจจัยเฉพาะตลาด ขณะที่ นักลงทุนกำลังซึมซับต่อโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้า (14 มิ.ย.) ที่มากขึ้นตามลำดับ

ด้านตลาดหุ้นยุโรป นายเอมมานูเอล มาครอง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการแล้ว ได้ลดความเสี่ยงของตลาดลงไประดับหนึ่ง ขณะที่การทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้รับการประนามจากญี่ปุ่น แต่สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีคาดว่าจะเป็นแค่การอึมครึม โอกาสที่จะมีการเจรจาสูงกว่าที่จะมีการใช้กำลังทางทหาร

ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 47 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯมากขึ้น (เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐ รายงานการใช้แท่นผลิตเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 17) แต่ตลาดหันมาให้ความสนใจกับการยืดเวลาการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก ออกไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจะทราบผลอย่างเป็นทางการ 25 พ.ค.นี้ ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น คาดจะยังมีกรอบจำกัด เพราะปัญหาด้าน supply ยังมีอยู่ จึงเป็นบวกต่อหุ้นน้ำมันและปิโตรเคมี เพียงเล็กน้อย

ดังนั้น ปัจจัยต่างประเทศ ตลาดรับรู้ปัจจัยบวกมาค่อนข้างมาก หากยังไม่มีตัวแปรใหม่ๆ เช่น การออกกฎหมายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือตัวเลขเศรษฐกิจ (สหรัฐฯ-ยุโรป) ที่ออกมาดี คาดตลาดหุ้นทั้งสองโซน หรือแม้กระทั่งตลาดอื่นๆ จะทรงๆตัวอยู่ในระดับนี้ การปรับพอร์ตเพื่อรับดอกเบี้ยสหรัฐฯยังมีน้อย เพราะเม็ดเงินเข้าตลาดเอเชียยังมีอยู่ (ยกเว้นไทย) และเงินยังไม่ได้ไหลออกจากตลาดพันธบัตรอย่างจริงจัง

สัปดาห์นี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่นักลงทุนจะให้ความสนใจ จะเป็นตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1 ของ 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย (15 พ.ค. คาด 3.1% YoY) กลุ่มอียู (16 พ.ค. คาด 1.7% YoY และ ญี่ปุ่น (18 พ.ค. คาด 1.8% QoQ)

สำหรับปัจจัยในประเทศ เข้าสู่ช่วงสองวันสุดท้ายของ การรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/60 ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวด้วยเรื่องของผลกำไรกันมากในช่วงต้นสัปดาห์ ที่เราสังเกตุเห็นได้คือ หุ้นส่วนใหญ่จะปรับตัวลงหลังส่งงบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันในสัปดาห์นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ