(เพิ่มเติม) GL คาดพอร์ตสินเชื่อปีนี้ทะลุเป้ารับเศรษฐกิจเมียนมา-อินโดฯขยายตัวดี ดันรายได้-กำไรนิวไฮต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 15, 2017 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) เปิดเผยว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ว่า บริษัทคาดพอร์ตสินเชื่อปีนี้น่าจะเติบโตดีกว่าคาดการณ์ หลังจากไตรมาส 1/60 มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 10,716 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตธุรกิจในเมียนมา และอินโดนีเซียที่เชื่อว่ายังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก หลังจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศยังขยายตัวได้ดี

ขณะที่บริษัทยังมั่นใจว่าผลประกอบการในปีนี้ทั้งรายได้และกำไรจะเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี หลังจากไตรมาส 1/60 มีกำไรสุทธิ 327.36 ล้านบาท เติบโต 47.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสูงขึ้นจากกำไร 324.40 ล้านบาทในไตรมาส 4/59 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 10

ทั้งนี้ งบการเงินดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากผู้สอบบัญชี โดยไม่ต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญสำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในสิงคโปร์และไซปรัส และไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนในศรีลังกา

"ผลประกอบการบริษัท Commercial Credit and Finance PLC (CCF) ประเทศศรีลังกา ที่บริษัทฯ เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 29.99% ผลประกอบการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งราคาหุ้นของ CCF ที่ปรับตัวลง บริษัทฯยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่า เนื่องจากถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อย และมียังนโนบายลงทุนใน CCF ระยะยาว" นายโคโนชิตะ ลก่าว

นอกจากนี้ คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/60 น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/60 ซึ่งทำกำไรสุทธิสูงสุด เป็นไปตามการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้เงินปันผลพิเศษของบริษัทย่อย GL Holdings (GLH) ในประเทศสิงคโปร์ ที่ถือหุ้น 100% เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 346 ล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

อีกทั้งตามรายงานที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนี้ ระบุว่า คณะกรรมการของบริษัทย่อย GLH สิงคโปร์ มีมติเมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 ให้จ่ายเงินปันผล 9.99 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 346 ล้านบาท ให้กับผู้ถือหุ้น คือ บริษัทแม่ GL ภายในวันที่ 17 พ.ค.นั้น ขณะที่ธุรกิจในศรีลังกายังคงเติบโตได้ดีและจะรับรู้กำไรตามสัดส่วนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสินเชื่อในประเทศไทย 51% ,กัมพูชา 44% ,สปป.ลาว ,อินโดนีเซีย 1.1% และเมียนมา 0.6% มองว่าในปีนี้สัดส่วนก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จากมีการบันทึกรายได้ของเมียนมาและอินโดนีเซีย เข้ามาเพิ่มเติม

นายโคโนชิตะ กล่าวว่า บริษัทวางแผนการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ แบ่งเป็น การปล่อยสินเชื่อจักรยานยนต์ใหม่คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีการปล่อยสินเชื่อราว 15,000 สัญญา/เดือน จากปีก่อน 6,327 สัญญา/เดือน โดยจะเน้นขยายในเมียนมาเพิ่มขึ้น , สินเชื่อจักรยานยนต์มือสอง คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 สัญญา/เดือน จากปีก่อน 240 สัญญา/เดือน มีแผนขยายไปยังเมียนมา จากปัจจุบันเน้นตลาดในประเทศไทยเป็นหลัก

ส่วนการปล่อยสินเชื่อเครื่องจักรกลทางการเกษตร คาดสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 250 สัญญา/เดือน จากปีก่อน 58 สัญญา/เดือน ตามการเติบโตของเศรษฐกิจในอินโดนีเชีย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Asset Back Loan) คาดสิ้นปีจะปล่อยสินเชื่อได้ราว 2,000 สัญญา/เดือน จากปีก่อน 1,370 สัญญา/เดือน โดยจะเสนอสินเชื่อในกัมพูชาเพิ่มเติม เชื่อว่าจะมีการเติบโตมากขึ้นในส่วนนี้

ด้านนสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตั้งเป้ามีฐานลูกค้าสิ้นปีนี้ราว 70,000 ราย จากปัจจุบันมีอยู่ 16,882 ราย

บริษัทมีสัดส่วนรายได้มาจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้ สินเชื่อเช่าซื้อ 72.2%, เงินกู้ 19.0%, Asset Back Loan 4.6% , ไมโครไฟแนนซ์ 0.6% และอื่นๆ 3.5% โดยมองว่าการปล่อยสินเชื่อ Asset Back loan และสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ ในปีนี้จะเติบโตอย่างชัดเจนในแง่ของจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศ (M&A) บริษัทต้องมีการพิจารณาถึงผลประกอบการ โดยการลงทุนดังกล่าวถือว่าเป็นนโยบายของบริษัทที่จะสนับสนุนผลประกอบการให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ในอนาคต ซึ่งบริษัทฯถือว่ามีฐานะเงินทุนที่แข็งแกร่งในการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเติบโตได้ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ