THAI รับแข่งขันสูง-น้ำมันขึ้นกดดันรายได้-กำไรปีนี้ แม้ Cabin Factor แนวโน้มดี-คงเป้ายอดขายตั๋วโต 5-10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 15, 2017 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกข์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและบัญชี บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า ในปีนี้ต้องยอมรับว่าผลประกอบการของบริษัทยังได้รับความกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงมากทำให้ต้องลดราคาขายตั๋วเพื่อสู้กับคู่แข่ง โดยเฉพาะสายการบินแถบตะวันออกกลางที่มีจำนวนเครื่องบินมาก (Over Capacity)

รวมทั้งราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) ตามได้ทันสถานการณ์ เพราะสายการบินต่างๆ เกือบทั้งหมดยกเลิกการเก็บ Fuel Surcharge ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 1/60 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานลดลง 60.1% มาที่ 2,867 ล้านบาท

ดังนั้น ในปีนี้คาดว่ารายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (yield) จึงน่าจะไม่มากกว่าปีก่อนที่มี yield ราว 2.31 บาท/กม.โดยในไตรมาส1/60 อยู่ที่ 2.20 บาท/กม.

"โดยพื้นฐานของyield ปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว ดูแล้วยาก เพราะว่า Fuel Surcharge เก็บไม่ได้ วันนี้แข่งขันกันมาก"นายณรงค์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าราคาน้ำมันอากาศยานน่าจะทรงตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ หรือมีระดับคาดการณ์ที่เฉลี่ย 65-70 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนระดับราคาอยู่ที่เฉลี่ย 57 เหรียญ/บาร์เรล โดย THAI ได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ในสัดส่วน 65%ของปริมาณการใช้น้ำมันที่ราคา 40-60 เหรียญ/บาร์เรล ถือว่าอยู่ระดับที่ค่อนข้างดี เป็นไปตามนโยบายให้ทำประกันความเสี่ยงช่วง 20-80% ของปริมาณการใช่น้ำมัน

นายณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกไตรมาส โดยมีรายการสำรองเงินไตรมาสละ 300 ล้านบาทตั้งแต่ไตรมาส 1/60 จนถึงปี 63 เพื่อไว้ใช้ในการซ่อมบำรุงใหญ่ของเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ในช่วงปี 62-63 และยังมีบันทึกด้อยค่าเครื่องบินที่รอขาย ประมาณ กว่า 1 พันล้านบาทต่อไตรมาส

ปัจจุบัน บริษัทมีเครื่องบินรอขาย 22 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส 340 ลำ จำนวน 9 ลำ เครื่องบินโบอิ้ง 747 จำนวน 2 ลำ ซึ่งได้ลงนามเอ็มโอยูในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ และมีเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 4 ลำ โดย 2 ลำอยู่ระหว่างเจรจาขาย

ด้านนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ระบุว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้จาการขายตั๋วโดยสารในปีนี้เติบโต 5-10% มาที่ 1.8 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นจำนวนที่นั่ง (Capacity) ประมาณ 8% เนื่องจากในปีนี้บริษัทมีแผนรับมอบเครื่องบิน จำนวน 7 ลำ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A350 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 2 ลำ และจะปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 จำนวน 2 ลำ ทำให้สิ้นปี 60 ฝูงบินของ THAI จะมีจำนวน 100 ลำ

ขณะเดียวกัน การบินไทยจะเพิ่มสายการบินทำการบินร่วม (Code share) เพื่อให้การบินไทยสามารถมีจุดบินครอบคลุมทุกจุดบินให้ได้มากที่สุด และทุกหน่วยธุรกิจก็มีกำไรทุกหน่วย อาทิ ครัวการบิน หน่วยซ่อมบำรุงอากาศยาน บริการส่งสินค้าทางอากาศ (แอร์คาร์โก้)

นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าสายการบินไทยสมายล์จะพลิกกลับมามีกำไรในปีนี้ จากปีก่อนขาดทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท หลังจากบริษัทลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ขณะที่สายการบินนกแอร์ (NOK) ที่ THAI ถือหุ้นอยู่ก็ได้เร่งแผนฟื้นฟูบริษัท ส่วนการเพิ่มทุนใน NOK คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้เพิ่มทุนตามสัดส่วน 39% เท่านั้น

นางอุษณีย์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในไตรมาส 2/60 จะปรับตัวดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 69% เนื่องจากในเดือน เม.ย.60 ที่ผ่านมา Cabin Factor ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบปีนี้ที่ 85% จากเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ 76% และคาดว่าในเดือน พ.ค.60 จะมี Cabin Foctor สูงกว่า 70%

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าทั้งปี 60 จะมี Cabin Factor ที่เฉลี่ย 75-76%

ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ที่เป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว(Low season) บริษัทจึงได้เตรียมแผนโปรโมชั่น แผนการตลาดไว้แล้ว และจากคาดการณ์ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะสามารถปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ ดังนั้น THAI จึงเตรียมแผนจะเปิดเส้นทางบินใหม่ไว้รองรับแล้ว

อนึ่ง THAI แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/60 มีกำไรสุทธิ 3,169 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 47.3% โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating Profit) จำนวน 2,867 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 60.1% สาเหตุหลักมาจากค่าน้ำมันเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อนถึง 45.8%

ประกอบกับ รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่าปีก่อน 12.0% จากการแข่งขันที่รุนแรงและการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 11.6% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร 82.8% สูงกว่าปีก่อน 5.3% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1% อย่างไรก็ตาม มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวมจำนวน 483 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 1,017 ล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,560 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ