LHBANK ตั้งเป้าสินเชื่อ-สินทรัพย์เติบโตปีละ 10-15% หลัง CTBC เข้าเป็นพันธมิตร,คาดกระบวนการเพิ่มทุนเสร็จในก.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 30, 2017 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) ตั้งเป้าสินเชื่อและทรัพย์สินจะเติบโตได้ปีละ 10-15% ภายหลังจากที่ CTBC Bank Co., Ltd. จากไต้หวันเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 35.617% ซึ่งกระบวนการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ CTBC เพื่อเข้ามาถือหุ้นนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ย.นี้

นางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) กรรมการผู้จัดการ ของ LHBANK กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนจาก CTBC แล้วจะส่งผลให้ฐานเงินทุนของ LHBANK โตกว่าเท่าตัว หรือเพิ่มมาอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท และอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 หรือ Common Equity Teir 1 เพิ่มขึ้นเป็น 20.1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10.4% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ 14.3%

อีกทั้งธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH bank) จะมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยแผน 5 ปี (ปี 61-65) ธนาคารจะเน้นขยายไปยังกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญ โดยธนาคารจะต้องมีการพัฒนาระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา ทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 61 อาจจะไม่สูงมากนัก แต่ยังคาดว่าสินเชื่อจะขยายได้มากกว่า 10% ในปี 61 และปี 62 คาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้มากกว่า 15% เพราะบริการเทรดไฟแนนซ์ที่พัฒนาระบบแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินงานได้ไนช่วงปลายปี 61 เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม

ส่วนในปี 60 ธนาคารยังคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 6-10% แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 2-3% เท่านั้น เนื่องจากความต้องการสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นหากภาครัฐเดินหน้าลงทุนโครงการต่าง ๆ อย่างชัดเจนมากขึ้น

ปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อจากรายใหญ่ 65% ซึ่งเป็นลูกค้าที่มียอดขายต่อปีมากกว่า 500 ล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 14% ซึ่งเป็นลูกค้าที่มียอดขายต่อปีมากกว่า 100 ล้านบาท และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 18-19% โดยสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงจากช่วง 5 ปีก่อนที่อยู่ระดับ 50% เพราะปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยลดลงตามภาวะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง โดยอัตราปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ 30%

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่จากสินเชื่อเอสเอ็มอี หลังธุรกิจเกิดการสะดุดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยปีนี้ธนาคารยังคงรักษาระดับ NPL ไม่ให้เกิน 2% จากไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 1.89% ซึ่งธนาคารยังคงนโยบายตั้งสำรองในระดับสูงเพื่อรักษาอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ให้อยู่ในระดับ 111-115% ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในระดับดังกล่าว แต่ต้องยอมรับว่า NPL ยังคงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว "ในระยะยาวเราตั้งเป้าให้สินทรัพย์รวมแตะ 4-5 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.15 แสนล้านบาท โดยไม่ได้ตั้งเป้าจะต้องขึ้นไปเป็นล้านล้านบาท เพราะเราจะเน้นทำธุรกิจที่มีความชำนาญ โดยพันธมิตรเราจะเข้ามาเสริมสิ่งที่ขาด โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และ เทรดไฟแนนซ์จะเริ่มดำเนินการได้ปลายปี 61"นางศศิธร กล่าว

อนึ่ง LHBANK จะเพิ่มทุนจดทะเบียน 7.54 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท เสนอขายต่อ CTBC Bank Co., Ltd. ในลักษณะการขายต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ที่ราคาหุ้นละ 2.20 บาท รวมเป็นเงิน 1.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุในสัญญาจองซื้อหุ้น (Share Subscription Agreement) ระหว่างบริษัทและ CTBC เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.59 โดยภายหลังการเพิ่มทุน CTBC จะเข้ามาถือหุ้นใน LHBANK สัดส่วน 35.617% ซึ่งเป็นสัดส่วนเท่ากับสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันของบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) และบมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) โดย LH และ QH จะมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 21.879% และ 13.738% ตามลำดับ

นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร ของ LHBANK กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมาทางการไต้หวัน (FSC) ได้อนุญาตให้ CTBC สามารถซื้อหุ้นเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทได้ และเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 60 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ CTBC เข้าเป็นผู้ร่วมทุนของบริษัทได้เช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อพิจารณาอนุญาตในเรื่องดังกล่าว

ขณะเดียวกันในวันที่ 12 ก.ค. 60 จะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อให้พิจารณาอนุมัติการออกและจัดสรรหุ้น PP เสนอขายต่อ CTBC และเพื่อขอพิจารณาอนุมัติการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท (Whitewash) ซึ่งคาดว่ากระบวนการเพิ่มทุนจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนก.ค. 60 "ตอนนี้กระบวนการเพิ่มทุนให้กับ CTBC ถือว่าเสร็จสิ้นเร็วกว่าที่เราคาดไว้ในช่วงเดือนก.ย. มาเป็นสิ้นเดือนก.ค.นี้ เพราะกระบวนการต่าง ๆ ของไต้หวันและไทยเร็วกว่าที่เราคาดไว้ ทำให้การเดินหน้ากระบวนการเพิ่มทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหลังเพิ่มทุนจะมีตัวแทนจาก CTBC เข้ามานั่งใน LHBANK 2 คน ในช่วงแรก และจะเพิ่มมาอีก 1 คน ภายใน 1 ปี ซึ่งจะมีกรรมการในคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน"นายรัตน์ กล่าว

นายรัตน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายอนันต์ อัศวโภคิน ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการ และกรรมการ ของ LHBANK จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร อีกทั้งทาง FSC และ CTBC ได้ทราบเรื่องแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นกังวลต่อประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะที่นายอนันต์ ก็ไม่ได้ถือหุ้นใน LHBANK แม้แต่หุ้นเดียว

อย่างไรก็ตามนายอนันต์ คงถือหุ้นทางอ้อมผ่าน LH และ QH ที่มาถือหุ้นอยู่ใน LHBANK คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมราว 12% ส่วนสัดส่วนการถือหุ้น LHBANK อีก 88% เป็นการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นที่ซื้อหุ้น LHBANK บนกระดานในตลาดหลักทรัพย์ และหลังจากการเพิ่มทุนให้กับ CTBC สัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมใน LHBANK จะลดลงเป็น 9%

หลังจากการลาออกของนายอนันต์ ทำให้ปัจจุบันธนาคารจะต้องสรรหาประธานกรรมการคนใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสรรหาบุคลากรในแวดวงการเงินการธนาคารของไทยเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน โดยคาดว่าภายในเร็ว ๆ นี้จะนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นประธานกรรมการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และจะนำเสนอต่อธปท. เพื่อพิจารณาต่อไป โดยบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ LHBANK จะเป็นบุคคลภายนอกเครือ LH และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถทางด้านการเงินและการธนาคาร

สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนแบบ PP ให้กับ CTBC มูลค่า 1.66 หมื่นล้านบาท จะเข้ามาใน LHBANK เท่านั้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของธนาคารในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่ได้มีการแบ่งผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบันทั้ง 2 ราย คือ LH และ QH


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ