KTBST คาด SET สัปดาห์นี้ผันผวนสูงให้กรอบ 1,553-1,580 จุด แนะชะลอลงทุนรอพ้นเลือกตั้งอังกฤษก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 5, 2017 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST ประเมินตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (5-9 มิ.ย.60) ว่า ตลาดจะมีความผันผวนสูง โดยมองกรอบดัชนีบริเวณ 1,553-1,580 จุด ปริมาณซื้อขายของตลาดลดลงอันเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนในทิศทางตลาด โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศ เช่น การเมืองสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยที่ต้องรอคอย อาทิ การเลือกตั้งอังกฤษ ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยในประเทศก็เป็นได้ทั้งบวกและลบ จากแนวทางปฎิรูปด้านอัตราแลกเปลี่ยน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารนี้ หากรัฐบาลทยอยออกมาตรการหรืออนุมัติการลงทุนใหม่ๆออกมา จะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น

ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุน โดยภาพรวมๆ KTBST ยังแนะนำชะลอการลงทุนรอให้การเลือกตั้งอังกฤษ หรือประชุม ECB ผ่านไปก่อน โดยการเข้าลงทุนในช่วงนี้ สินทรัพย์หรือหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ หุ้น Defensive หรือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนด้านเงินปันผลที่สูง ยังคงดูเป็นบวก ขณะที่หุ้นอิงกับภาวะเศรษฐกิจ เช่นกลุ่มธนาคาร ควรรอดูให้ตลาดมีการพลิกตัวหรือมีเงินไหลกลับเข้าตลาดก่อน ดังนั้นในสัปดาห์นี้ ยังแนะนำให้ถือเงินสด 30% เพื่อรอซื้อหุ้น หากเกิดการปรับฐาน

โดยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index สัปดาห์นี้ที่ 1,553-1,580 จุด หากดัชนีฯ ยังไม่ต่ำกว่า 1,566 จุด รูปทรงของตลาดยังไม่เสียหาย ให้ถือต่อได้ ขณะที่ หุ้นแนะนำในเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ BEM , GLOBAL , หุ้น Defensive ได้แก่ CPALL , หุ้น high dividend yield ได้แก่ JASIF , PSH และ หุ้นเก็งเข้า SET100 ได้แก่ MEGA , TWPC

สำหรับปัจจัยที่ควรติดตามได้แก่ นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ การประกาศจะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส สัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำว่า นโยบายที่จะทยอยออกมาคงไม่ได้ง่ายนัก และจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ตลาดผันผวนในบางวัน

ส่วนปัจจัยต่อมาคือ โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมกลางสัปดาห์หน้า ที่ยังไม่แน่นอน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ สลับบวกสลับลบ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด แม้โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ จะขึ้นแตะ 89% (Bloomberg) ก็ตาม แต่หากเฟด เห็นว่ายังมีความเสี่ยงและนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังไม่กระตุ้นให้เศรษฐกิจให้ร้อนแรง ก็อาจไม่จำเป็นต้องรีบร้อนปรับดอกเบี้ย หรือจำนวนครั้งของการปรับอาจเพียงแค่ 2-3 ครั้งในปีนี้

ขณะเดียวกันในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ มีปัจจัยสำคัญคือ การเลือกตั้งของอังกฤษ คะแนนนิยมของพรรคอนุรักษ์นิยม ทิ้งห่างจากพรรคแรงงานเพียง 3% (YouGov) หากพรรคแรงงานชนะ จะเป็นลบต่อตลาด ส่วนการประชุม ECB ดอกเบี้ยยังไม่น่าปรับขึ้น แต่ให้ดูถ้อยแถลงในเรื่องนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ว่าจะปรับลด QE หรือไม่หลังเดือนธ.ค.60 (ล่าสุด วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน) รวมไปถึงปัจจัยเรื่อง ราคาน้ำมันดิบ WTI มี downside risk จากการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความเสี่ยงของตลาด รวมทั้งความกังวลต่อการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงไปที่ 45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ