(เพิ่มเติม) KBANK เปิดตัว"บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล"ตั้งวงเงิน 1 พันลบ.ลงทุนสตาร์ทอัพใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 7, 2017 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดตัวบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon Venture Capital) โดยธนาคารถือหุ้น 100% เพื่อร่วมลงทุนในกองทุน VC หรือ สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องและสามารถรองรับแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้แนวคิด The Next Building Block หนุนพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินที่ส่งเสริมกลยุทธ์ของธนาคาร ประเดิมเป็นธนาคารไทยรายแรกที่ลงทุนในรูปแบบ Venture Capital (VC) แก่สตาร์ทอัพไทย “FlowAccount"

Beacon VC มีวงเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท และมีนโยบายการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่การลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ทั้งสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศ และการลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) ชั้นนำ ตั้งเป้าปี 60 เน้นลงทุนสตาร์ทอัพโดยตรง 3 – 5 แห่ง และลงทุนในกองทุน VC อื่น ๆ 2 – 3 แห่ง

"ปี 60 ธนาคารคาดว่าจะมีดีลที่ธนาคารจะเข้าลงทุนที่ได้ข้อสรุปทั้งหมดจำนวน 6 ดีล จากปัจจุบันมีการเจรจาอยู่ทั้งหมด 4 ดีล ซึ่งได้ข้อสรุปด้านแผนการลงทุนแล้วจำนวน 2 ดีล มูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท" น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าว

สำหรับนโยบายการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่การลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ทั้งสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศ และการลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) ชั้นนำ ซึ่งรูปแบบการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพจะเน้นไปในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) และด้านไลฟ์สไตล์ ได้แก่ อาหาร สุขภาพ และเอ็นเตอร์เทนเมนท์ต่างๆ เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าถึงการบริการลูกค้าในด้านอื่นๆนอกเหนือจากการบริการทางการเงินซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้สตาร์ทอัพที่บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด เข้าลงทุนสามารถเติบโตได้จากฐานลูกค้าของ KBANK ที่มีจำนวน 14 ล้านคนในปัจจุบัน และมีลูกค้าที่ใช้บริการ K+ ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน จำนวน 5 ล้าน ในปัจจุบัน

"ธนาคารคาดหวังว่าการเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสตาร์ทอัพให้เติบโต จะช่วยต่อยอดการบริการของธนาคารและต่อยอดธุรกิจสตาร์ทอัพให้ก้าวเดินหน้าไปได้ โดยเรามองถึงการผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ที่เป็นตลาดที่รองรับ เพื่อในโอกาสที่เขา (ผู้ลงทุน-ผู้ร่วมทุน) อยากต้องการ exit ก็ต้องทำได้"นางขัตติยา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ