ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร AQUA ที่ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 2, 2017 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) ที่ระดับ “BBB-"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ในการเป็นผู้ให้บริการเช่าพื้นที่ติดตั้งสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย ตลอดจนรายได้ประจำจากค่าเช่าคลังสินค้าภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว รายได้เงินปันผลและความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนใน บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO)

ขณะเดียวกัน อันดับเครดิตได้คำนึงถึงการเติบโตที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายโฆษณา สภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูงในธุรกิจติดตั้งสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย และระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการขยายกิจการของบริษัท

AQUA ก่อตั้งในปี 2537 โดยเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนกันยายน 2547 และในปี 2550 บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) ภายใต้การนำของกลุ่มครอบครัวตระกูลเอี้ยวศิวิกูล ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และตัดสินใจยกเลิกธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ในปี 2557 มีผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่เข้ามาบริหารบริษัท

ณ เดือนมีนาคม 2560 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทประกอบไปด้วยนายกำพล วีระเทพสุภรณ์ ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 11.1% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท รองลงมาคือ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ซึ่งถือหุ้น 4.94% ตระกูลเอี้ยวศิวิกูลถือหุ้น 4.23% และนางสุมาลี อ่องจริต ถือหุ้น 4.05%

บริษัทมีการลงทุนในกิจการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทจัดการการลงทุนในปี 2557 ในปี 2550 บริษัทได้ซื้อหุ้นจำนวน 50% ของบริษัท อควา แอด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการติดตั้งสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย จากนั้นก็ได้เพิ่มการถือหุ้นเป็น 100%ในปี 2554

ในปี 2553 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 43.8% ของ EPCO เนื่องจากบริษัทดังกล่าววางแผนจะเปลี่ยนไปดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน ในปี 2557 บริษัทได้ขยายพอร์ตการลงทุนไปยังธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ โดยในปี 2557 และปี 2558 บริษัทได้ซื้อกิจการของ บริษัท ไทย คอนซูมเมอร์ ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด และ บริษัท แอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัททั้งสองดำเนินธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าที่พัฒนาตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) ในปี 2559 บริษัทได้พัฒนารีสอร์ทเวชศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและให้เช่าแก่บริษัท เดอะเคบิน เชียงใหม่ จำกัด เพื่อรับรายได้ประจำจากค่าเช่า ในช่วงปี 2558 และปี 2559 รายได้รวมของบริษัทประกอบด้วยรายได้จากค่าโฆษณาในสัดส่วน 52%-56% และรายได้ค่าเช่าจากคลังสินค้าและบริการในสัดส่วน 44%-48%

อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทมีรายได้ค่าเช่าที่บริษัทได้รับประจำจากสัญญาเช่าระยะยาว บริษัท ไทย คอนซูมเมอร์ ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ และบริษัทแอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทนั้นมีพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้น 122,747 ตารางเมตร (ตร.ม.) และมีการทำสัญญาเช่าระยะยาวกับผู้เช่าที่มีความน่าเชื่อถือ สัญญาเช่าระยะยาวบางสัญญามีระยะเวลาเช่า 10 ปีครบกำหนดในปี 2565 และ 2567 และบางสัญญามีอายุสัญญา 3 ปีแต่สามารถขยายอายุสัญญาต่อได้จนถึงปี 2566 บริษัทมีรายได้จากค่าเช่าอยู่ที่ 283 ล้านบาทในปี 2559 จากคลังสินค้าทั้ง 4 แห่งที่เปิดดำเนินการเต็มปี รายได้ค่าเช่าจะเติบโต 1%-4% ต่อปีตามอัตราการเพิ่มค่าเช่าที่ระบุไว้ในสัญญา อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจคลังสินค้าค่อนข้างสูงโดยคิดเป็น 95% ในปี 2559 รายได้ค่าเช่าของบริษัทจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นหลังจากที่บริษัทเริ่มมีรายได้จากการให้เช่ารีสอร์ตเวชศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงกลางปี 2560 ซึ่งคาดว่าการให้เช่ารีสอร์ตจะทำให้รายได้จากค่าเช่าเพิ่มขึ้นประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี

นอกเหนือจากรายได้ประจำจากค่าเช่า บริษัทยังได้รับรายได้เงินปันผลจากการลงทุนในบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกอีกจำนวน 35 ล้านบาทในปี 2559 ด้วย ทั้งนี้ รายได้จากเงินปันผลของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 70 ล้านบาทต่อปีเมื่อโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกเดินเครื่องเต็มที่ โดยรายได้ค่าเช่าและเงินปันผลรับจะคิดเป็นสัดส่วน 50%-55% ของเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัท

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันและภาวะการแข่งขันที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยจะรายงานว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการติดตั้งสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยจะเติบโต 11% ต่อปีในระหว่างปี 2557-2559 แต่รายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทกลับลดลงจาก 357 ล้านบาทในปี 2556 มาอยู่ที่ 307-313 ล้านบาทต่อปีในช่วงดังกล่าว โดยอัตราการเช่าป้ายโฆษณาจำนวน 275 ป้ายของบริษัทลดลงอยู่ระดับปานกลางในช่วงปี 2557-2559 หลังจากที่เคยสูงกว่า 70% ในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในธุรกิจสื่อโฆษณายังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 42%-44% ในระหว่างปี 2557-2559

การก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในช่วงปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าบริษัทจะมีการเพิ่มทุนในปี 2557 แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็เพิ่มขึ้นจากระดับ7% ในปี 2555 เป็น 36% ในปี 2558 และปี 2559 เนื่องจากบริษัทมีการซื้อกิจการค่อนข้างมากในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทใช้เงินจำนวน 1,115 ล้านบาทเพื่อซื้อกิจการของบริษัทไทย คอนซูมเมอร์ ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ และบริษัทแอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทอควา แอด

ในช่วงปี 2557-2559 บริษัทเริ่มขยายพอร์ตการลงทุนในธุรกิจสื่อโฆษณาเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2560 ได้ซื้อกิจการของ บริษัท บอร์ดเวย์ มีเดีย จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการเช่าพื้นที่ป้ายโฆษณานอกบ้านทั้งในรูปแบบเครือข่ายป้าย LED (Light-Emitting Diode) และป้ายนิ่ง บริษัทใช้เงินทั้งหมด 762 ล้านบาทในการซื้อกิจการในครั้งนี้ ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นเป็น 40.9% ณ เดือนมีนาคม 2560

และในเดือนพฤษภาคม 2560 บริษัทได้ประกาศจะซื้อกิจการอีก 1 แห่งซึ่งเป็นกิจการที่ให้บริการเช่าพื้นที่ป้ายโฆษณานอกบ้านโดยใช้เงินลงทุนมูลค่า 85 ล้านบาท การลงทุนเหล่านี้น่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจติดตั้งสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยโดยการเพิ่มเครือข่ายป้าย LED เข้ามาเสริมธุรกิจป้ายนิ่งเดิมที่บริษัทมีอยู่ อีกทั้งยังจะช่วยให้บริษัทขยายพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาได้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ กิจการทั้ง 2 แห่งที่บริษัทเพิ่งลงทุนเหล่านี้มีรายได้ 260 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ จำนวน 54 ล้านบาท ในปี 2559

ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตตามการซื้อกิจการต่างๆเพิ่มขึ้น บริษัทมีรายได้ที่เติบโตจาก 391 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 593 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 11% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 167 ล้านบาท

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 27.8% ในปี 2555 เป็น 63.38% ในปี 2559 จากการที่บริษัทมีรายได้ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงจากธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2557-2559 บริษัทยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ จากระดับประมาณ 30 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2555-2559

ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 95 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 433 ล้านบาทในปี 2558 หลังจากที่บริษัทซื้อกิจการบริษัทแอ๊คคอมพลิช เวย์โฮลดิ้ง ในปี 2558 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 435 ล้านบาทในปี 2559 และลดลงเล็กน้อยเป็น 120 ล้านบาทในช่วงช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560

อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูงจากการลงทุนต่าง ๆ ส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงอยู่ที่ประมาณ 18% ในปี 2558-2559 และอยู่ที่ 15.3% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 เมื่อเทียบกับระดับ 55%-82% ในช่วงปี 2555-2557 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ดีที่ 5.2 เท่าในปี 2559 และ 5.7 เท่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560

ในอนาคตบริษัทวางงบประมาณลงทุนประมาณ 1,900 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อใช้สำหรับซื้อหุ้นในบริษัทสื่อโฆษณาอื่น ๆ รวมทั้งเพิ่มป้ายโฆษณา LED และเปลี่ยนจากป้ายนิ่งเดิมที่บริษัทมีอยู่เป็นป้าย LED ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าในปี 2560-2562 รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1,000 ล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อยและเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 350 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว

ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทซึ่งคำนวณจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังคงอยู่ที่ระดับ 50% ในปี 2560 และจะลดลงต่ำกว่า 45% ในปี 2561-2562 หากบริษัทไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 11%-15% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 4-5 เท่าในปี 2560-2562 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดย ณ เดือนมีนาคม 2560 ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 2,284 ล้านบาท ซึ่ง 70%ของยอดภาระหนี้ทั้งหมดหรือ1,604 ล้านบาท เป็นหนี้สินระยะยาวและสัญญาเช่าทางการเงิน เงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงปี 2560-2562 อยู่ที่ 200-300 ล้านบาทต่อปี คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 350 ล้านบาทต่อปีที่จะสามารถจ่ายชำระหนี้ดังกล่าวได้ ภาระหนี้อื่นที่ครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้ายังมีตั๋วแลกเงินจำนวน 680 ล้านบาทด้วย

ทั้งนี้ ณ 31 มีนาคม 2560 บริษัทมีเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมเท่ากับ 407 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีความยืดหยุ่นทางการเงินอีกส่วนหนึ่งโดยบริษัทเป็นเจ้าของหุ้นสามัญของบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกจำนวน 294 ล้านหุ้น โดย ณ เดือนมีนาคม 2560 หุ้นจำนวน 18% ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืม ซึ่งหุ้นทั้งหมดมีมูลค่าตลาดเท่ากับ 2,117 ล้านบาท ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 บริษัทยังมีหุ้นซื้อคืนอีกจำนวน 86 ล้านหุ้นซึ่งสามารถนำมาใช้เพิ่มสภาพคล่องของบริษัทได้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจให้บริการเช่าพื้นที่ติดตั้งสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยได้ต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอและรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ระดับประมาณ 50% ในช่วงที่บริษัทมีการขยายการลงทุนด้วย

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยความสามารถในการชำระหนี้ไม่ลดลง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทมีแหล่งเงินทุนสำรองสำหรับสภาพคล่องไม่เพียงพอ หรือผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การขยายธุรกิจที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้ฐานะทางการเงินและระดับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ