ก.ล.ต. เปิดแผนปรับเกณฑ์ outsource เพิ่มความคล่องตัวให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 7, 2017 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์การมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินงานแทน (outsource) เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.-29 ก.ย.60

ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการ outsource ของผู้ประกอบการในธุรกิจหลักทรัพย์ จัดการลงทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้การมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้แก่บุคคลอื่นสามารถทำได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถวางแผนการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสอดคล้องกับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แนวคิดการปรับปรุงครั้งนี้จะแบ่งงานที่จะ outsource เป็น 2 ประเภท ได้แก่ งานที่เข้าลักษณะงานทั่วไป และงานที่เข้าลักษณะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของตลาดทุน โดยกรณีที่เป็นงานทั่วไป จะเปิดให้การ outsource ทำได้สะดวกมากขึ้น โดยยกเลิกการต้องขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. ก่อน และสามารถ outsource ได้โดยไม่จำกัดประเภทผู้ให้บริการ อย่างไรก็ดี จะมีการเพิ่มบทบาทของผู้ประกอบธุรกิจในการกำกับดูแลด้วยตนเอง (self-regulation) และรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการ outsource ให้มากขึ้น

ในขณะที่หากเป็นการ outsource งานที่เข้าลักษณะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของตลาดทุน ผู้ประกอบธุรกิจจะต้อง outsource งานดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เท่านั้น โดย ก.ล.ต. จะทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวโดยตรงแทนผู้ประกอบธุรกิจ เนื่องจากงานโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นระบบงานที่มีความสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม

นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการสร้างความคล่องตัวในการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน เพราะจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถทุ่มเททรัพยากรเพื่อแข่งขันในการนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีและเหมาะสม เพื่อตอบโจทย์การลงทุนและการออมให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลด้วยตนเอง นอกจากนี้ ในการให้บริการที่มีความสำคัญต่อตลาดทุน ก.ล.ต. ก็จะเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลมากขึ้น เพื่อให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ