"เอเชีย ไบโอแมส"ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 75 ล้านหุ้น เข้า mai, ใช้ขยายพื้นที่เก็บกะลาปาล์ม-ตั้งรง.ผลิตชีวมวลอัดแท่งกับบ.ร่วมทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday September 10, 2017 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า บมจ.เอเชีย ไบโอแมส ยื่น Filing version แรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 เนื่องจากบริษัทจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 75 ล้านหุ้น และมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้

วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อลงทุนในการขยายพื้นที่เก็บรวบรวมกะลาปาล์มเพิ่มเติมในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย คาดว่าจะใช้เงิน 30 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการใช้เงินในปี 2561-2562, เพื่อลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งกับบริษัทร่วมทุนบริเวณภาคใต้ คาดว่าจะใช้เงิน 18 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการใช้เงินในไตรมาส 4/60 ถึงปี 2561, เพื่อลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตไม้สับ และโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่าจะใช้เงิน 20 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการใช้เงินในปี 2561 ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยประกอบธุรกิจหลัก คือ การจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับผู้ที่มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ทั้งผู้ที่มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ได้แก่ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มโรงไฟฟ้า และผู้ที่นำเชื้อเพลิงชีวมวลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้แปรรูปชีวมวล กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ และกลุ่มที่นำเชื้อเพลิงชีวมวลไปจัดจำหน่ายต่อ เป็นต้น โดยบริษัทและบริษัทย่อยจะจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลจากแหล่งผู้ผลิต และผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล (Supplier) ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ

การจัดหาในประเทศจะดำเนินการผ่าน ABM และ บริษัท ภาประภัส จำกัด (PPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศที่ ABM ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.98 ส่วนการจัดหาในต่างประเทศจะดำเนินการผ่าน PT. Asia Biomass Indonesia (ABI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียที่ ABM ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.00 Asia Biomass Energy SDN. BHD. (ABE) และ Asia Biomass Resources SDN. BHD. (ABR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศมาเลเซียที่ ABM ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 55.00 ทั้ง 2 บริษัท โดยการจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในหรือต่างประเทศจะดำเนินการจำหน่ายผ่าน ABM และ PPP เท่านั้น

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจัดหาและจัดจำหน่ายสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักดังนี้ กลุ่มที่ 1 กะลาปาล์ม (Palm Kernel Shell), กลุ่มที่ 2 ไม้สับและส่วนอื่นๆของไม้ (Woodchip and Others), กลุ่มที่ 3 ขี้กบ ขี้เลื่อย และฝุ่นไม้ (Wood Shavings, Sawdust, Wood Dust), กลุ่มที่ 4 ชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) และกลุ่มที่ 5 สินค้าอื่น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้ง บริษัท สถาพรธนาพัฒน์ จำกัด (STP) ขึ้น โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99 เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุก โดยให้บริการกับ ABM และ PPP เป็นหลัก และหากมีกำลังการให้บริการเหลือก็จะให้บริการขนส่งกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง และบริษัทอื่นด้วย

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯงวด 6 เดือนสิ้นสุด 30 มิ.ย. 2560 มีสินทรัพย์รวม 795.38 ล้านบาท หนี้สินรวม 619.47 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 175.91 ล้านบาท รายได้รวม 583.62 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ 2.31 ล้านบาท

โครงการในอนาคต บริษัทมีนโยบายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและต่อยอดกับธุรกิจที่บริษัทดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพื่อมุ่งหวังให้บรรลุพันธกิจ (Mission) ที่บริษัทกำหนดไว้ กล่าวคือ สามารถสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วด้วยความหลากหลายของประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล รวมถึงการให้ความสำคัญด้านคุณภาพและมีปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลที่จะสามารถส่งถึงลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทั้งนี้ บริษัทมีแผนงานที่จะดำเนินงานในอนาคต ดังนี้ 1. แผนการขยายความสามารถในการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล

1.1 บริษัทมีแผนที่จะขยายพื้นที่เก็บรวบรวมกะลาปาล์มเพิ่มเติมในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย อีกจำนวน 2 แห่ง และ 1 แห่ง ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทยอยจัดหาพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมกะลาปาล์มดังกล่าวได้จนครบตามความต้องการภายใน 3 ปี ซึ่งจะสามารถรองรับการขยายตัวของยอดการจำหน่ายกะลาปาล์มที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าชีวมวลในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น โดยพื้นที่ที่ขยายดังกล่าวจะใช้วิธีเช่าระยะยาว ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในการปรับปรุงที่ดินและติดตั้งอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้ในการกองเก็บสินค้าประมาณ 30 ล้านบาท

1.2 บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนขยายการดำเนินธุรกิจไปยังธุรกิจต้นน้ำของกลุ่มสินค้าที่ได้จากการแปรรูปไม้ต่างๆ เพื่อเป็นการประกันแหล่งผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการลงทุนในโครงการเพาะปลูกพืชประเภทไม้เพื่อการแปรรูป และไม้โตเร็วต่างๆ และการลงทุนในโรงงานผลิตไม้สับ (Woodchip) และชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellets) โดยมีแผนการลงทุน ดังนี้

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ถึงปี 2561 บริษัทวางแผนจะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการโรงเลื่อยขนาดใหญ่ในภาคใต้ที่สัดส่วนการลงทุนร้อยละ 50 เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่ง โดยในช่วงแรกจะมีกำลังผลิต 30,000 ตันต่อปี ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท และในช่วงถัดไปจะมีกำลังการผลิต 60,000 ตันต่อปี ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2561 ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะใช้เงินในการลงทุนโครงการดังกล่าวจากสถาบันการเงินในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ในปี 2561 บริษัทวางแผนที่จะลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตไม้สับ และโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่ง ที่ตำบลบ้างกุ้งอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของคลังสินค้าขนาดใหญ่ของบริษัทซึ่งได้เริ่มลงทุนไว้เมื่อปี 2558 โดยมีกำลังการผลิตสำหรับไม้สับ และชีวมวลอัดแท่งที่ 120,000 ตันต่อปี และ 24,000 ตันต่อปี ตามลำดับ โดยเบื้องต้นจะใช้เป็นโชว์รูมสำหรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพและความพร้อมของบริษัทที่จะจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลให้แก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องตามคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในโรงงานดังกล่าวประมาณ 40 ล้านบาท โดยคาดว่าจะกู้ยืมจากสถาบันการเงินในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสวนยางพาราโดยใช้ระบบ Contract Farming พร้อมกับขอการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้สินค้าไม้ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยบริษัทจะดำเนินการรับซื้อที่ราคาที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ และในระยะยาว หากบริษัทมีความพร้อมและเล็งเห็นศักยภาพของการเติบโตในอนาคต บริษัทวางแผนที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)และการยางแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างแหล่งวัตถุดิบที่มาจากจัดการป่าไม้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะทำให้เกิดการสร้างอาชีพ เพื่อรองรับการขยายการดำเนินธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลของบริษัทอย่างยั่งยืน

2. แผนการประกันคุณภาพสินค้าของบริษัท

2.1 ในปี 2560 บริษัทวางแผนที่จะดำเนินการยื่นขอการรับรองคุณภาพสินค้าและบริการ ISO 9001:2015 และการรับรองด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 เพื่อให้ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าของบริษัทได้ผ่านการดำเนินงานต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากล

2.2 ในปี 2560 บริษัทจะดำเนินการขอขยายขอบเขตการรับรองมาตรฐาน ด้านระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้าไม้ (FSC-CoC/CW) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวล อาทิเช่น ปีกไม้ และขี้เลื่อยอัดก้อน (Wood Briquette) เป็นต้น และในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น อาทิเช่น ไม้ยางพาราแปรรูป, แผ่นชิ้นไม้อัด (Particle Board) และ แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (Medium Density Fiber Board หรือ MDF) เพื่อรองรับแผนการเพิ่มผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัท

2.3 ในปี 2561 บริษัทจะดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานเพิ่มเติม ด้านระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้าไม้ (Chain of Custody ; CoC) เช่น Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC-CoC) หรือมาตรฐานอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

2.4 ในปี 2562 บริษัทจะดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานด้านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Sustainable Forest Management) ซึ่งเป็นการรับรองพื้นที่ป่าไม้ที่ได้มาตรฐาน มาจากการจัดการอย่างถูกต้อง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น Forest Stewardship Council – Forest Management (FSC-FM) หรือ มาตรฐานการจัดการสวนไม้เศรษฐกิจ (มอก.14061) เป็นต้น

3. แผนการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า บริษัทได้เล็งเห็นถึงช่องว่างทางการตลาด บริษัทจึงมีแผนที่จะจำหน่ายสินค้าเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า โดยจากการศึกษาของบริษัทที่ผ่านมา พบว่ายังมีลูกค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้าในต่างประเทศ เช่นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยินดีที่จะจ่ายค่าเชื้อเพลิงชีวมวลในระดับราคาที่สูงขึ้นสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลที่สามารถให้ค่าความร้อนที่สูงกว่าระดับปกติ บริษัทได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว จึงได้มีการริเริ่มศึกษาถึงวิธีในการแปรรูปชีวมวลปกติให้มีค่าความร้อนที่สูงขึ้น โดยผ่านกระบวนการทอร์รีแฟกชัน (Torrefaction) ซึ่งเป็นกระบวนการทางความร้อนในสภาวะที่ไม่รุนแรงเพื่อเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นถ่านก่อนแล้วจึงทำการบด/สับย่อยชีวมวล ซึ่งจะทำให้เชื้อเพลิงชีวมวลดังกล่าวมีความชื้นน้อย ค่าความร้อนและความหนาแน่นสูง สามารถนำมาใช้ทดแทนหรือร่วมกับถ่านหินได้ดี ซึ่งหากบริษัทได้ดำเนินการขยายการลงทุนดังกล่าวได้ ก็จะทำให้บริษัทสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรให้กับบริษัทได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงปริมาณความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

4. แผนการเพิ่มผลิตภัณฑ์อื่น นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทสามารถจัดหาได้จาก Supplier ที่จัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลให้บริษัท โดยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2559 บริษัทได้เริ่มทดลองจัดหาผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปจากโรงเลื่อยไม้ และจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าที่นำไม้แปรรูปไปใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หรือไม้แปรรูปในลำดับถัดไป ซึ่งกลุ่มลูกค้าไม้แปรรูปเหล่านี้ก็เป็น Supplier เชื้อเพลิงชีวมวลให้กับบริษัทด้วย โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดหาไม้แปรรูปได้จากความสัมพันธ์อันดีกับโรงเลื่อยไม้ที่บริษัทติดต่อซื้อขายกันหลายรายอยู่แล้ว และสามารถจำหน่ายให้กับลูกค้าไม้แปรรูปที่มีความต้องการใช้ได้ ทั้งลูกค้าในประเทศที่บริษัทมีความสัมพันธ์จากการเป็นคู่ค้ากันอยู่แล้ว และลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าในประเทศจีน ที่เป็นตลาดที่มีความต้องการสูง ทั้งนี้ หากผลการดำเนินงานของการจัดหาและจัดจำหน่ายไม้แปรรูปเป็นไปตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้ บริษัทมีแผนที่จะจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินการจัดหาและจัดจำหน่ายไม้แปรรูปในอนาค

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 150.00 ล้านบาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 112.50 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 225 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ บริษัทจะมีทุนที่ออกและชำระแล้วเท่ากับ 150.00 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ ครอบครัวควรสถาพร ถือหุ้น 197,311,091 หุ้น คิดเป็น 87.694% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 65.770% รองลงมาคือ นายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร ถือหุ้น 15,000,099 หุ้น คิดเป็น 6.667% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 5%

บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังหักสำรองตามกฎหมายแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ