ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ KSL ที่ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 11, 2017 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ที่ระดับ “A" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากวัฏจักรราคาน้ำตาล และความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และกัมพูชา ตลอดจนภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง

KSL เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยครอบครัวตระกูลชินธรรมมิตร์และกลุ่มพันธมิตร ณ เดือนเมษายน 2560 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 68% ของหุ้นทั้งหมด

บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2560 เท่ากับ 110,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 6.8 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2559/2560 และผลิตน้ำตาลได้ 724,549 ตัน ซึ่งส่งผลให้บริษัทเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.2% โดยเป็นรองกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 19.7% กลุ่มไทยรุ่งเรืองซึ่งมีส่วนแบ่ง 14.1% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ซึ่งมีส่วนแบ่ง 9.4%

ตั้งแต่ปีการเงิน 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล ทั้งนี้ ในช่วงปีการเงิน 2559 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้รวมของบริษัท

ราคาน้ำตาลทรายลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาน้ำตาลอ้างอิงจากราคาขายตามสัญญาที่ บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายนั้นลดลงจาก 18.4 เซนต์ต่อปอนด์ในปีการผลิต 2556/2557 มาอยู่ที่ 15.4 เซนต์ต่อปอนด์ในปีการผลิต 2558/2559 นอกจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงแล้ว สภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศไทยยังส่งผลทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบของบริษัทลดลงด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 7.61 ล้านตัน ในปีการผลิต 2558/2559 ลดลงจาก 8.47 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557

ราคาขายเอทานอลและอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้า (Tariff) รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่ปรับตัวลดลงก็ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2558 และปี 2559 อ่อนตัวลงด้วยเช่นกัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงเป็น 13.9% ในปีการเงิน 2558 และ 12.9% ในปีการเงิน 2559 จาก 18.3% ในปีการเงิน 2557 ส่งผลให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงตามลำดับจาก 3,879 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 2,473 ล้านบาทในปี 2559 เงินทุนจากการดำเนินงานก็ลดลงจาก 2,916 ล้านบาทเป็น 1,381 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 บริษัทมีรายได้ลดลงเป็น 7,533 ล้านบาท หรือลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 24.1% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 จาก 21.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2559 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลเพิ่มขึ้น บริษัทและผู้ผลิตน้ำตาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในช่วงที่ราคาน้ำตาลอยู่ในระดับสูง การปรับตัวที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลช่วยชดเชยความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจพลังงานของบริษัทที่ยังอ่อนตัวลง นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นยังส่งผลทำให้บริษัทมีกำไรเล็กน้อยเป็นครั้งแรกจากธุรกิจที่ดำเนินงานใน สปป. ลาว และกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2560 อีกด้วย EBITDA รวมของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นจาก 1,701 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2559 เป็น 2,368 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 39% ในช่วงเวลาเดียวกันในปีการเงิน 2560

ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.1% ณ สิ้นปีการเงิน 2559 จากระดับ 58.1%-59.8% ในช่วงปีการเงิน 2556-2559 การปรับตัวดีขึ้นของอัตราการก่อหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากการประเมินราคาสินทรัพย์และการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีของ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) จากงบการเงินรวมมาเป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวลดลงตามวัฏจักรราคาน้ำตาล ในช่วงที่ผ่านมาอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเท่ากับ 3.48 เท่าในปีการเงิน 2559 จาก 3.61 เท่าในปีการเงิน 2558 และ 4.65 เท่าในปีการเงิน 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเท่ากับ 7.3% ในปีการเงินประมาณ 2559 เมื่อเทียบกับระดับ 9.1% ในปีการเงินประมาณ 2558 และ 13.2% ในปีการเงินประมาณ 2557

ในเดือนกรกฎาคม 2560 บริษัทได้ประกาศการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) โดยทั้ง 2 บริษัทนี้จะรวมเป็นบริษัทใหม่ที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่นจะถือหุ้น 60% ในบริษัทใหม่และบริษัทจะเป็นผู้ถือหุ้นในส่วนที่เหลือ 40% การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทใหม่ เนื่องจากบริษัทใหม่จะกลายมาเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

บริษัทใหม่ดังกล่าวจะมีกำไรที่ผันผวนน้อยลงจากการที่สามารถใช้วัตถุดิบหลักคือทั้งกากน้ำตาลและมันสำปะหลังในการผลิตเอทานอลในขณะที่ยังมีกำไรจากการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มอีกด้วย คาดว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 และบริษัทใหม่มีแผนจะเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่นักลงทุนทั่วไปในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนตุลาคม 2561 ทั้งนี้ ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วบริษัทใหม่จะสามารถระดมทุนได้ด้วยตนเองเพื่อขยายธุรกิจต่อไป การควบรวมกิจการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อระดับหนี้ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีกำไรจากการขายกิจการของบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่นและเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีของบริษัทลูกดังกล่าวจากงบการเงินรวมมาเป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย

การแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่กำลังดำเนินอยู่ได้สร้างความไม่แน่นอนในการดำเนินงานให้แก่ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ของไทยได้อนุมัติในหลักการให้มีการยกเลิกระบบโควต้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศจะไม่เป็นราคาคงที่อีกต่อไป คณะทำงานยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากำหนดรายละเอียดการดำเนินการ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าวจึงยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

คาดการณ์ว่าผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในปีการเงิน 2560 จะยังอยู่ภายใต้ความกดดันจากปริมาณอ้อยที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะภัยแล้งซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1,500 ล้านบาทในปีงบการเงิน 2560 และจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาทในปีการเงิน 2561 และเป็น 2,500 ล้านบาทในปีการเงิน 2562 ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตน้ำตาลที่มากขึ้น ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยและการขยายกำลังการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลในจังหวัดเลยจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณน้ำตาลของบริษัท ต้นทุนที่ปรับตัวลดลงและปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยชดเชยราคาน้ำตาลที่อ่อนตัวลงในปีการเงิน 2561 ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขยายกำลังการหีบอ้อยในจังหวัดเลยและอำเภอน้ำพองจะแล้วเสร็จภายในปีการเงิน 2560 ดังนั้น เงินลงทุนของบริษัทจะลดลงจาก 3,000 ล้านบาทในปีการเงิน 2560 เหลือเพียง 500 ล้านบาทต่อปีในระยะต่อไป

เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานเงินทุนจากการดำเนินงานและงบลงทุนดังกล่าวแล้ว ระดับหนี้ของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ เงินสดส่วนเกินที่ใช้ในการชำระหนี้ซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทก็คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ในช่วง 10%-15% ในปีการเงิน 2561-2562 ตามการฟื้นตัวของกำไรและการลดลงของระดับหนี้ สภาพคล่องของบริษัทก็ถือว่าอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แม้ว่าบริษัทจะมีหนี้สินระยะยาวและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระจำนวน 3,400-4,600 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปีการเงิน 2560-2563 รวมทั้งตั๋วแลกเงินคงค้างอีกจำนวน 500 ล้านบาท บริษัทก็ยังมีช่องทางระดมทุนในตลาดและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารต่าง ๆ มากกว่า 9,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดดังกล่าว

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลเอาไว้ได้แม้ภายหลังการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทได้รับผลตอบแทนจากการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลและจะสามารถจัดการภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะสั้นจากการที่ราคาน้ำตาลทรายยังคงอ่อนแอและภายใต้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังคงดำเนินอยู่ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงและกำไรปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ