ทริสฯ ลดอันดับเครดิตองค์กร TRT เป็น “BBB-" จาก “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 19, 2017 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ถิรไทย จำกัด (TRT) เป็นระดับ “BBB-" จากเดิมที่ระดับ “BBB" โดยการปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงกว่าที่คาดและสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายซึ่งมีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย โดยที่การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงโอกาสในการเติบโตในตลาดส่งออกของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากอุปสงค์หม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น

บริษัทถิรไทยก่อตั้งในปี 2530 โดยเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่ง นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้แก่ การติดตั้งและการซ่อมบำรุงหม้อแปลงไฟฟ้าด้วย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment – MAI) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดยมีนายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 29% ณ เดือนมีนาคม 2560 ปัจจุบันบริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจประกอบรถยกไฮดรอลิก ธุรกิจเหล็กแปรรูป และธุรกิจรับจ้างดำเนินงานและซ่อมบำรุง (Maintenance and Operation -- O&M) โดยผ่านการดำเนินงานของบริษัทย่อยซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อบรรเทาปัญหาอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์หลักที่ลดลงด้วย

การลดอันดับเครดิตในครั้งนี้มีสาเหตุเนื่องมาจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาดทั้งจากการลดลงอย่างมากของรายได้จากผลิตภัณฑ์หลักและความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง ผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดมีสาเหตุหลักมาจากตลาดในประเทศที่อยู่ในภาวะซบเซาเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ รายได้รวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1,065 ล้านบาท รายได้ที่ลดลงมาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าที่ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับผู้ประกอบรายอื่นในธุรกิจเดียวกัน บริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากความต้องการในประเทศที่หดตัวลงอย่างมากซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในด้านราคา โดยบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 84 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560

อันดับเครดิตที่ลดลงยังเป็นผลมาจากสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงด้วยเนื่องจากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นได้ลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลง ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงอ่อนแอในช่วงเวลาที่เหลือของปี

อันดับเครดิตในปัจจุบันยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศของบริษัท โดยบริษัทเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทภายในประเทศที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ (MVA) ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์ (kV) และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) ถึง 10 MVA ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 kV อีกทั้งบริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้อยรายที่สามารถจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรียซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ สำหรับหม้อแปลงภายใต้ตราสินค้าถิรไทยอีกด้วย

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าส่งผลให้บริษัทมีกลุ่มลูกค้าในประเทศที่กว้างขวางครอบคลุมทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าและหน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังมีมุมมองในด้านบวกต่อศักยภาพการเติบโตของบริษัทในตลาดส่งออกซึ่งจะช่วยบรรเทาผลจากวัฏจักรของตลาดในประเทศได้ เมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้ทำการปรับปรุงโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งจะเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่บริษัท ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2560 บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 MVA จาก 5,000 MVA การขยายกำลังการผลิตดังกล่าวสามารถรองรับการเติบโตของบริษัทในระยะ 5-7 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งได้ปรับลดมุมมองที่มีต่อตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศลงแม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ายังคงเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากการเป็นอุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่งแต่กลับชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเลื่อนงานประมูลและการทำสัญญาของรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า นอกจากนี้ การชะลอตัวของโครงการลงทุนภาคเอกชนยังส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดอ่อนตัวลง งานในภาครัฐและเอกชนก็มีการแข่งขันในการประมูลโครงการที่รุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้การทำกำไรของผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าลดต่ำลงอย่างมากเนื่องจากผู้ผลิตจำเป็นต้องลดราคาสินค้าเพื่อให้ได้คำสั่งซื้อจากลูกค้า ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานการณ์ตลาดที่ซบเซาจะยังคงดำเนินต่อไปและจะส่งผลลบต่อสถานะทางการเงินของผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า

รายได้รวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ระดับ 1,065 ล้านบาทยังคงต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ทั้งปีที่ระดับเกิน 3,000 ล้านบาท ผลจากการเลื่อนงานประมูลของรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าและยอดคำสั่งซื้อของลูกค้าภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่น้อยกว่าคาดบ่งบอกถึงการฟื้นตัวของรายได้ที่ช้ากว่าที่ประมาณการณ์ไว้ รายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งมีสัดส่วนมากสุดของรายได้รวมของบริษัทลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากระดับ 868 ล้านบาทมาอยู่ที่ 611 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 รายได้จากลูกค้าภาคเอกชนในประเทศลดลงมากที่สุด โดยลดลงถึง 78.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้าที่ลดลง ส่งผลให้รายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ที่ระดับเกือบ 60% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เทียบกับระดับประมาณ 70% ในอดีตที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม รายได้จากบริษัทย่อยเติบโตในระดับเกือบ 40% ของรายได้รวม

แม้ว่าบริษัทจะมีจุดแข็งทางการตลาดเมื่อเทียบกับผู้ผลิตหม้อแปลงในประเทศรายอื่น แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงอ่อนตัวลงตามสภาพการแข่งขันที่รุนแรงทางด้านราคา นอกจากนี้ บริษัทยังเผชิญกับการแข่งขันจากหม้อแปลงไฟฟ้านำเข้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศจีนอีกด้วย ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 18% เทียบกับระดับ 26% ในปี 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรขั้นต้นจากหม้อแปลงไฟฟ้านั้นลดลงอย่างมากโดยเหลือเพียง 7% จาก 23% ในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้ายังคงเป็นกลุ่มที่มีปัญหาที่สุดซึ่งต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วด้วยอัตรากำไรที่ลดลง ทั้งนี้ กำไรขั้นต้นของบริษัทลดลง 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 192 ล้านบาท

ในทางตรงข้ามกับรายได้ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายของบริษัทย่อยที่สูงขึ้น บริษัทมีความพยายามที่จะสร้างการเติบโตของผลกำไร โดยการเพิ่มรายได้จากธุรกิจอื่นนอกเหนือจากการขายหม้อแปลงไฟฟ้า ทั้งนี้ บริษัทย่อยต่าง ๆ จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญที่จะสามารถให้บริการอื่น ๆ ได้มากขึ้น อาทิ งานด้านวิศวกรรม งานจัดซื้อจัดจ้าง และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement, and Construction -- EPC) รวมถึงงาน O&M จึงส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 80 ล้านบาทและมีผลขาดทุนก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจำนวน 31 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ซึ่งผลประกอบการที่อ่อนแอลงได้ลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท

อันดับเครดิตยังพิจารณาจากภาระหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 และยังคงอยู่ในระดับสูง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีเงินกู้รวมเท่ากับ 1,494 ล้านบาท หนี้สินที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนสำหรับการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ การเพิ่มขึ้นอย่างมากของลูกหนี้การค้าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผลกดดันต่อสภาพคล่องและอัตราเงินกู้รวมของบริษัทด้วย ทั้งนี้ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นประเด็นกังวลต่ออันดับเครดิตเนื่องจากบริษัทมีแนวโน้มที่จะผิดข้อกำหนดของหุ้นกู้ โดยบริษัทมีเงินกู้รวมที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.48 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2560 เทียบกับข้อกำหนดที่ระบุให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.5 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59.8%

ในอนาคตข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะฟื้นตัวดีขึ้นหากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าสามารถเปิดประมูลได้ตามปกติและการลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัว ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวน 980 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 โดยประมาณ 85% ของยอดขายนี้มีกำหนดส่งมอบภายในปี 2560 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งในช่วง 3 ปีข้างหน้า รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 200-300 ล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 50%

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการแข่งขันของบริษัท อีกทั้งบริษัทจะสามารถบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานได้อย่างรอบคอบและลดระดับหนี้สินลงจนทำให้บริษัทสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินได้

อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10%-15% อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ