ตลท.ชูผลตอบแทนสกุลดอลลาร์ตลาดหุ้นไทย 2 เดือนล่าสุดสูงถึง 16.7% ผลงาน บจ.ยังแข็งแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 11, 2017 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ"สถานการณ์ตลาดทุนไทย"ว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 54-59) ให้ผลตอบแทน 50% หรือเฉลี่ยปีละ 10% ส่วน 7 เดือนแรกของปีนี้แม้ว่าตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนัก เพิ่งจะมาปรับขึ้นมากในช่วงปลายเดือน ส.ค.ถึงปัจจุบัน แต่ช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมามีผลตอบแทน 8.4% ในรูปเงินบาท แต่หากเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีผลตอบแทน 16.7% โดยมาจากตลาดหุ้นและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.60 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.31 บาท/ดอลลาร์ จากต้นปี 60 อยู่ที่ 35.3 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยมี Forward P/E ที่ 16.7 เท่าในเดือน ก.ย.60 เทียบกับ ก.ย.59 มีค่า Forward P/E ที่ 15.7 เท่า ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอินโดนีเซีย ที่มี Forward P/E ที่ 17.5 เท่า และฟิลิปปินส์ Forward P/E ที่ 19.9 เท่า รวมทั้งตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดย ตลท.คาดว่ามาร์เก็ตแคป IPO ในปีนี้จะมีมูลค่า 3 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันมีจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยที่เข้าไปอยู่ในดัชนี DJSI ถึง 16 บริษัทซึ่งมากที่สุดในอาเซียน และมีจำนวน บจ.ไทยเข้าอยู่ในดัชนี MSCI ถึง 34 บริษัท ซึ่ง 70% ของนักลงทุนต่างชาติจะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าว ส่วนที่เหลือเข้าลงทุนหุ้นอื่นที่มีกว่า 500 ตัวในหุ้นไทย

ณ สิ้นเดือน ก.ย.60 ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าตลาดรวม (Market Cap) ที่ 16.8 ล้านล้านบาท และมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 4.7 หมื่นล้านบาท/วัน หรือ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/วัน โดยปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนรายบุคคล อยู่ที่ 50% ลดลงจาก 60-70% ขณะที่อีก 50% เป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างประเทศ 30% และนักลงทุนในประเทศ 20%

นายภากร กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาจะเติบโตปีละ 2-3% แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก เป็นผลจากการยอดขายจากการส่งออกประมาณ 47% ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกในอาเซียน และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา,ลาว,เมียนมา,เวียดนาม)

ส่วนมุมมองทิศทางตลาดตราสารหนี้ปี 61 นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiMBA) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการลงทุนตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีต่อเนื่อง โดยมาจากบริษัทประกันชีวิต กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สหกรณ์ วัด มูลนิธิต่าง ๆ ขณะเดียวกันบุคคลทั่วไปก็มองหาการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองเงินฝากลดลง ซึ่งในอีก 2-3 ปีจะรับประกันเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท โดยได้ปรับลดลงต่อเนื่องจาก 50 ล้านบาท

แต่ปัจจุบันการเสนอขายหุ้นกู้เอกชนส่วนใหญ่ประมาณ 95% ขายให้กับนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ การเปิดขายให้นักลงทุนทั่วไปน้อยมาก จึงแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมได้

ส่วนการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) จากกรณีที่บริษัทบางแห่งผิดนัดชำระ (Default) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับเกณฑ์ จะเสนอขายตั๋ว B/E ได้เฉพาะกลุ่ม Private Placement 10 ราย (PP10) คาดจะมีผลบังคับใช้กลางปี 61

นายธาดา กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารทุน และ สินเชื่อธนาคาร โดยเดือน ส.ค.60 ตลาดตราสารหนี้มีมูลค่า 11.21 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.73% โดยมีการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองเฉลี่ยวันละ 9.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เทียบกับปีที่แล้ว โดยกว่า 93%เป็นการซื้อขายตราสารหนี้ภาครัฐ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน 8 เดือนแรกปี 60 อยู่ที่ 3.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว 3.9% และในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยรวมมีเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 1 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ