DELTA ตั้งเป้ายอดขายปี 61 แตะ 5 หมื่นลบ.กำไรสุทธิโต 10% รุกชิ้นส่วนรถ EV ในยุโรป หลังปีนี้พลาดเป้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 25, 2017 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 61 อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้ากำไรสุทธิในปี 61 เติบโต 10% จากปี 60 โดยบริษัทจะยังคงรุกการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปที่มีการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐในโซนยุโรป

นอกจากนี้ยอดขายที่เติบโตขึ้นยังมาจากออร์เดอร์ของ Power Supply ยังมีการเติบโตขึ้น จากการขยายงานด้านการสำรองข้อมูลผ่านระบบ Cloud ที่ได้รับความนิยมมาก ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในแผงโซลาร์รูฟท็อปเริ่มมีความต้องการใช้มากขึ้น เพราะปัจจุบันอาคารและบ้านเรือนต่าง ๆ เริ่มมีการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ

ปัจจัยที่หนุนให้กำไรเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ ชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้าที่ให้มาร์จิ้นที่ดีในระดับ 13-15% ซึ่งจะช่วยหนุนให้อัตรากำไรสุทธิในปี 61 คาดว่าจะสูงขึ้นมากกว่า 12% จากการที่มีสัดส่วนยอดขายและสัดส่วนกำไรจากการสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ส่วนแผนการลงทุนในปี 61 บริษัทได้ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 1.5-1.8 พันล้านบาท แบ่งเป็น ใช้ปรับปรุงสายการผลิตในโรงงานที่ประเทศไทยให้เป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด จากปัจจุบันที่มีสายการผลิตบางส่วนยังเป็นการผลิตแบบ manual ซึ่งจะใช้เงินในส่วนนี้ราว 1 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 500-800 ล้านบาท จะใช้เป็นงบสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อนำมาศึกษาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น

อีกทั้งบริษัทยังมองไปถึงการศึกษาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานทดแทน ที่บริษัทมีความสนใจที่จะศึกษาการลงทุนผลิตชิ้นส่วนแผงโซลาร์ที่ติดตั้งในเรือเดินทะเล เพราะเป็นยานพาหนะที่มีการเปิดรับแสงได้มากที่สุด ขณะที่โครงการผลิตแขนกล (Robotic Arms) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันบริษัทได้นำมาทดลองใช้ในโรงงานของบริษัทแล้ว แต่ยังไม่มีแผนที่จะไปจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งจะต้องรอหลังจากที่โรงงานในอินเดียก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน บริษัทถึงจะยื่นขอสิทธิพิเศษทางภาษีกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อทำการผลิตแขนกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตออกมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์

ขณะที่ความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอินเดีย ในรัฐ Tamil Nadu ที่ปัจจุบันมีความล่าช้าในเรื่องการส่งมอบที่ดิน เพราะติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน ส่งผลให้กำหนดการเริ่มก่อสร้างต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายปี 61 จากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3/61 อีกทั้งงบลงการลงทุนในโรงงานดังกล่าวยังใช้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ 1 พันล้านบาท เพราะการซื้อที่ดินที่จะก่อสร้างโรงงานไม่สามารถซื้อได้ตามแผนงานทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการรอการเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตในอินเดียดังกล่าว โดยที่บริษัทได้เช่าโรงงานอื่น ๆ ในอินเดียเพื่อผลิตชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสามารถที่จะสร้างยอดขายเข้ามาได้ แม้ว่าบริษัทจะมีต้นทุนค่าเช่าโรงงานเข้ามากดดันกำไรบ้าง แต่ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/60 คาดว่าจะรายได้และกำไรจะใกล้เคียงจากไตรมาส 3/60 แต่จะสูงกว่าไตรมาส 4/59 เนื่องจากออร์เดอร์ของลูกค้าที่เข้ามาทั้งกลุ่มลูกค้ารถยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มลูกค้าที่ใช้ Power Supply มีเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 แต่ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/60 โดยลูกค้าที่มีออร์เดอร์เข้ามาเป็นออร์เดอร์ที่รองรับการผลิตและการจำหน่ายสินค้าของลูกค้าในปี 61 ซึ่งบริษัทได้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์บางประเภทให้มีความทันสมัยและรองรับกับสินค้าใหม่ของลูกค้าที่จะออกมาทั้งหมดแล้ว อีกทั้งยอดขายของโรงงานในสโลวาเกียที่มีการเติบโตมากกว่า 50% เป็นปัจจัยหนุนให้ยอดขายยังเติบโตขึ้นในทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตามแนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งคาดว่ายอดขายจะต่ำกว่าเป้าที่ 5 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิจะเติบโตได้ไม่ถึง 10% เพราะมีปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ยอดขายที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทลดลง ซึ่งบริษัทส่งออกสินค้าให้กับลูกค้าเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมการประกันความเสี่ยงค่าเงินที่บริษัททำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ราว 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทเสียค่าธรรมเนียมการทำประกันความเสี่ยง

อีกทั้งบริษัทยังได้รับผลกระทบการการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลราว 800 ล้านบาท หลังจากที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับกรมสรรพากร ซึ่งรวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้วไปเมื่อไตรมาส 2/60 พร้อมกับบริษัทยังมีการตั้งสำรองฯภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อาจจะต้องจ่ายในปีหน้า 200-300 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกดดันกำไรของบริษัทในปีนี้ที่ไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย โดยผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมียอดขายอยู่ที่ 3.65 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ