โบรกฯเชียร์"ซื้อ"BBL แนวโน้มสินเชื่อ Q4/60 โตถึงปี 61 ตามศก.ฟื้น,รับผลดีดีล AIA หนุนรายได้เพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 25, 2017 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) คาดสินเชื่อในไตรมาส 4/60 จนถึงปี 61 จะขยายตัวตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และเป็นธนาคารที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการของภาครัฐที่มีการเปิดประมูลอีกหลายโครงการ ขณะที่การเป็นพันธมิตรกับ AIA ในการขายประกันผ่านสาขาของ BBL จำนวน 1,200 สาขา จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในปี 61 ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ และการตั้งสำรองในไตรมาส 4/60 ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด โดยในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ BBL ได้ตั้งสำรองหนี้สูญถึง 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ตั้งสำรองไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนทั้งอุตสาหกรรม เนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นทั้งระบบ

ราคาหุ้น BBL พักเที่ยงอยู่ที่ 189.50 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 0.26% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.41%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ                ซื้อ               222
          เคทีบี (ประเทศไทย)              ซื้อ               222
          เคจีไอ (ประเทศไทย)          Outperform          210
          ธนชาต                         ซื้อ               208
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)             ทยอยซื้อ            193
          แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์                ถือ               200
          โกลเบล็ก                       ถือ               204

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ประเด็นลงทุนหุ้น BBL ในมุมบวกคือในไตรมาส 4/60 มีแนวโน้มสินเชื่อขยายตัว ซึ่งปกติเป็นไตรมาสที่ขยายตัวมากที่สุดของปี ประกอบกับ BBL ได้ดีลกับบริษัท เอไอเอ จำกัด (AIA) ในการเพิ่มสินค้าประกันชีวิตขายในสาขาธนาคาร (Bancassurance) ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น หนุนให้กำไรของ BBL มีแนวโน้มดีขึ้น

ส่วนงบในไตรมาส 3/60 กำไรสุทธิทรงตัวจากไตรมาส 3/59 โดยมีการตั้งสำรองในไตรมาส 3 นี้จำนวน 6.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในไตรมาสเดียวกันที่ตั้งสำรองไว้ 4.9 พันล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ เติบโตเพียง 4% โดยในงวด 9 เดือนที่ผ่านมา BBL ได้ตั้งสำรองแล้วจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ตั้งสำรองไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนทั้งอุตสาหกรรม เนื่องจาก NPL เพิ่มขึ้นทั้งระบบ ดังนั้น ยังต้องติดตามว่า BBL จะตั้งสำรองมากน้อยอย่างไรในไตรมาส 4/60

แนะนำให้ "ถือ" มี upside ไม่มาก โดยให้ราคาเหมาะสม 204 บาท ตาม Consensus Bloomberg

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ คงคำแนะนำ "ซื้อ" สำหรับหุ้น BBL เนื่องจากเป็นธนาคารที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการของภาครัฐที่จะมีการเปิดประมูลอีกหลายโครงการ ประกอบกับภาพการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 61 ยังมี Upside เพิ่มเติมจากการเป็นพันธมิตรกับ AIA ในการขายประกันผ่านสาขาของ BBL จำนวน 1,200 สาขา คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงครึ่งหลังปี 61 ซึ่งยังไม่ได้รวมในประมาณการ

BBL ประกาศกำไรสุทธิในไตรมาส 3/60 ที่ 8.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ซึ่งไปตามที่คาดการณ์ โดยมีปัจจัยหนุนจากรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นได้ดีจากธุรกิจกองทุนรวมและประกัน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลดลงจากค่าใช้จ่ายทางด้านไอทีลดลง

ส่วนบทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่าแม้ผลการดำเนินงานโดยรวมของ BBL ในไตรมาส 3/60 ทำได้เพียงทรงตัวจากไตรมาสก่อน และกิจกรรมการปล่อยกู้รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ก็ยังไม่ได้แสดงภาพที่ดีขึ้นมากนัก แต่ในระยะต่อไปคาดว่าภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนให้คุณภาพสินเชื่อของ BBL ค่อย ๆ ดีขึ้น และสามารถขยายธุรกิจใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเห็นการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในไตรมาส 4/60 ดังนั้น จึงยังคงประมาณการเอาไว้เท่าเดิม

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ยังมีมุมมอง"เป็นกลาง" จากการประกาศงบไตรมาส 3/60 ของ BBL เนื่องจากกำไรสุทธิยังเป็นไปตามคาดไว้ โดยทรงตัวเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน และไตรมาสก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรอง ขณะที่ gross NPL เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อปัญหานี้อย่างใกล้ชิด ส่วนประเด็นความร่วมมือกับ AIA ด้าน Bancassurance ยังรอความชัดเจนจาก BBL ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะหนุนรายได้ค่าธรรมเนียมในปีหน้า

ทั้งนี้ สินเชื่อคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่คุณภาพสินทรัพย์ยังต้องระมัดระวัง โดยคาดว่าแนวโน้มสินเชื่อของ BBL ตั้งแต่ในไตรมาส 4/60 จะเติบโตดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนราว 42% ของสินเชื่อรวม โดยจะได้แรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐและการเติบโตของภาคการส่งออก ด้านคุณภาพสินทรัพย์ แม้ว่าไตรมาสนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของ gross NPL เริ่มชะลอตัว แต่นโยบายการแก้ปัญหาหนี้เสียอย่างอนุรักษ์นิยม ทำให้ยังคงจับตาต่อปัญหาการกลับมาเป็นหนี้เสียของลูกหนี้ปรับโครงสร้าง (NPL relapse)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ