KTBST มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัวช่วง 1,700-1,730 จุด ภาพรวมเป็นบวกจากปัจจัยในปท.หนุน,จับตาประชุมเฟด-BoE

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 30, 2017 10:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (30 ต.ค.-3 พ.ย.) จะแกว่งตัวในช่วง 1,700-1,730 จุด โดยภาพรวมยังเป็นไปในทิศทางบวก แต่ไม่แรงเนื่องจาก Upside ของหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดอาจเหลือไม่มากนัก โดยปัจจัยในประเทศ เป็นตัวหนุนตลาดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยภาครัฐบาล และผลประกอบการไตรมาส 3/60 ซึ่งจะหนุนให้นักลงทุนในประเทศน่าจะเป็นผู้ซื้อรายหลัก ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ ยังไม่น่าจะกลับมาเป็นผู้ซื้อรายหลักของตลาดดังเช่นสองเดือนที่ผ่านมา เพราะทิศทางดอลลาร์ที่เริ่มกลับมาแข็งค่า

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ปัจจัยสำคัญที่เป็นได้ทั้งบวกและลบ นั่นคือ การเสนอชื่อประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ หากผลออกมาและทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศจะน้อยลงหรือพลิกกลับมาซื้อได้เช่นกัน

ดังนั้น จากมุมมองตลาดที่บวกได้ไม่มาก กลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้ ยังต้องเป็นสลับกับการเปลี่ยนตัวเล่นหุ้นที่ราคาขึ้นมามากและเริ่มไปต่อไม่ได้ โดยเน้นสองกลุ่ม คือ กลุ่มได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐฯ และหุ้นมีปัจจัยเฉพาะตัว รวมทั้งหุ้นงบไตรมาส 3 ที่คาดว่าจะออกมาดี โดยหุ้นแนะนำในเชิงกลยุทธ์ได้แก่ HANA , CPALL , M , BCH , ADVANC , FN

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและจะมีผลต่อกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) ซึ่งจากแผนการลดภาษีและตัวประธานเฟดคนใหม่ หากหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจะผลลบต่อตลาดหุ้น-พันธบัตรของไทย เพราะนักลงทุนต่างประเทศอาจลดการถือสินทรัพย์เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง และอาจจะไม่ได้เป็นผลบวกต่อกลุ่มผู้ส่งออกเพราะหุ้นเหล่านั้นแม้จะเป็นบวก แต่ไม่มีน้ำหนักต่อตลาดมากนัก จึงเป็นเหตุผลที่คาดว่าดัชนีฯสัปดาห์นี้ ขึ้นได้แต่ไปไม่ไกลนัก ถ้านักลงทุนต่างประเทศไม่ได้ซื้อหุ้น หรือพลิกมาขาย

ขณะที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ทั้งสองแห่ง ในวันที่ 1 และ 2 พ.ย.ตามลำดับ ตลาดไม่ได้คาดการณ์ในเรื่องการปรับดอกเบี้ย แต่น่าจะให้ความสนใจกับนโยบายด้านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มากกว่า และตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะรายงานในวันศุกร์ ที่ 3 พ.ย. คงไม่มีนัยต่อตลาด เนื่องจากเพิ่งผ่านการประชุม FOMC มาเพียงสองวัน ตลาดรับรู้ในเรื่องทิศทางดอกเบี้ยกันไปแล้ว

ส่วนปัจจัยในประเทศแรงเก็งกำไรในหุ้นที่ประกาศงบไตรมาส 3 จะกระจายไปในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก กันมากขึ้น ส่วนหุ้นขนาดใหญ่ มองว่าราคาหุ้นสะท้อนกำไรไปแล้ว ทั้งกลุ่มธนาคาร-น้ำมัน-ปิโตรเคมี จากนี้ไปหุ้นเหล่านี้จะขึ้นลงตามทิศทางของดัชนีฯมากกว่า แต่ยังมองว่า Upside หุ้นใหญ่เหลือน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ