Z.com รุกชิงตลาดโบรกฯออนไลน์ จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง วางเป้ามาร์เก็ตแชร์ปีแรก 0.5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 7, 2017 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) หรือ Z.com ใส่เกียร์รุกชิงตลาดโบรกฯออนไลน์ ชูจุดเด่นจับกล่มลูกค้าระดับกลาง คิดค่าคอมฯตายตัว 1 แสนบาท : 100 บาทไม่มีส่วนลด เตรียมทุนพันล้านบาทพร้อมปล่อยมาร์จิ้นหุ้นกลาง-เล็ก-IPO-กอง REIT คัดหุ้นให้เลือกมากถึง 500 ตัว แต่คุมความเสี่ยงด้วยการคิดดอกเบี้ยสูง 8% วางเป้ามาร์เก็ตแชร์ปีแรก 0.5% บัญชีลูกค้า 5,000-7,000 บัญชี เริ่มรับเปิดบัญชีออนไลน์ตั้งแต่ 13 พ.ย.นี้ หวัง break even ภายใน 1 ถึง 1 ปีครึ่งรับอานิสงส์ต้นทุนต่ำ

นายเมกุมุ โมโตฮิสะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Z.com กล่าวว่า บริษัทมุ่งดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ที่ให้บริการการโอนเงินเพื่อฝากหลักทรัพย์และสร้างอำนาจซื้อแบบ real-time โดยให้บริการทั้งบัญชี Cash Balance ที่ลูกค้าต้องวางเงินสดเป็นหลักประกัน 100% และบัญชีเครดิตบาลานซ์ ที่เป็นบัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ โดยไม่มีอัตราขั้นต่ำในการปล่อยกู้ และมีจำนวนหลักทรัพย์ที่ปล่อยกู้มากถึง 500 หลักทรัพย์ คิดอัตราดอกเบี้ย 8%

บริษัทมีความพร้อมในด้านเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจาก คือ จีเอ็มโอ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้งส์ อิ้งค์ ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวของญี่ปุ่น ที่เป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มจีเอ็มโอ อินเตอร์เน็ต อิ้งค์ ถือหุ้น 81% และ บล.ไดวา กรุ๊ป ถือหุ้น 9.34% โดยขณะนี้บริษัทมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1,000 ล้านบาทที่เตรียมไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเพื่อรองรับบัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์

นายโมโตฮิสะ กล่าวว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเริ่มมีแนวโน้มของรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายเหมือนกับตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นในอดีตที่เริ่มมาก่อน โดยขณะนี้ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนการซื้อขายผ่านออนไลน์สูงขึ้นมาที่ 50% แล้ว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์หุ้นญี่ปุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ จึงคาดว่าอีกภายใน 5 ปีข้างหน้าตลาดหุ้นไทยก็จะเป็นแบบเดียวกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น

นายประกฤต ธัญวลัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Z.com กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายที่จะชิงส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจโบรกเกอร์ให้ได้อย่างน้อย 0.5% ในปีแรกที่เปิดดำเนินการ หลังจากซื้อใบอนุญาตจาก บล.เมอร์ลิน ลินช์ มาในราคาประมาณ 40 ล้านบาท โดยเริ่มจากธุรกิจโบรกเกอร์ออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งสาขาธุรกิจที่บริษัทแม่มีความถนัด นอกเหนือจากธุรกิจซื้อขายเงินตราที่เป็นธุรกิจหลัก ซึ่งจะเปิดให้ลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีผ่านออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.นี้ และคาดว่าในปีนี้แรกน่าจะมีบัญชีลูกค้าราว 5-7 พันบัญชี หลังจากเปิดให้เข้ามาเปิดบัญชีที่บริษัทระยะหนึ่งแล้วได้รับการตอบรับที่ดีพอสมทควร

จุดเด่นในบริการของบริษัทที่จะใช้ในการแข่งขันคือ การเน้นลูกค้าระดับกลางที่เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยเน้นสนับสนุนการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว มากกว่าการเทรดดิ้ง ด้วยการเสนอเงื่อนไขการให้บริการด้านบัญชีเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (บัญชีมาร์จิ้น) ที่สามารถเลือกซื้อหุ้นและลงทุนได้หลากหลายครอบคลุมไปถึงหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม ไอ เอ (mai) หุ้นใหม่ที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (REIT)

ทั้งนี้ จากความเสี่ยงที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นดังกล่าว บริษัทจึงคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงที่ 8% เพื่อควบคุมความเสี่ยงภายในบริษัท รวมทั้งเข้มงวดกับการกำกับดูแลบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเมื่อราคาหุ้นปรับลงไปเหลือ 40% และบังคับขาย (Force sell) ที่ 30% โดยไม่มีการผ่อนผัน และจะไม่มีการให้ลูกค้าต่อรองค่าธรรมเนียมจากที่กำหนดไว้ 100 บาทสำหรับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทุก 1 แสนบาท

"เราเน้นลูกค้าคนไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะลูกค้าระดับกลาง ลูกค้ารายเล็กก็อาจจะไม่เข้ามา ส่วนรายใหญ่คงไม่สนใจเพราะต่อรองค่าธรรมเนียมไม่ได้"นายประกฤต กล่าว

บริษัทยังมีบริการด้านบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จะครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งปัจจบันโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก โดยขณะนี้มีทีมนักวิเคราห์ 4 คนที่จะออกบทวิเคราะห์รายตัว 1 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการลงทุนให้กับนักลงทุน ร่วมมือทางด้านวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษา และสื่อสารผ่านข่องทางออนไลน์กับลูกค้า นอกเหนือจากมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ที่ให้บริการ แต่จะไม่มีการชักชวนลูกค้าให้ซื้อหลักทรัพย์ใด ๆ

ขณะที่อนาคตบริษัทเตรียมเพิ่มการนำเสนอบริการด้านอื่น ๆ ให้กับลูกค้า จากปัจจุบันที่เทรดผ่านระบบ Settrade Streming สำหรับธุรกรรม front office และใช้ I-Star GV ของผู้พัฒนาในประเทศญี่ปุ่นสำหรับธุรกรรม back office อีกทั้งมีแผนที่จะเพิ่มแผนกต่าง ๆ เพื่อขยายสาขาของการให้บริการ เช่น ฝ่ายวาณิชธรกิจ (IB) รวมทั้งเตรียมพร้อมหากในอนาคตประเทศไทยอนุญาตให้มีการซื้อขายเงินตรา (Forex) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กลุ่มบริษัทแม่มีความถนัด

นายประกฤต กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งหลังจากเปิดให้บริการ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบที่มีต้นทุนการให้บริการต่ำกว่าคู่แข่ง เพราะไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่การตลาด และได้รับการสนับสนุนด้านระบบและเทคโนโลยีจากกลุ่มบริษัทแม่ รวมถึงราคาซื้อใบอนุญาตที่ถือว่าต่ำมาก อีกทั้งอีกจุดสำคัญคือไม่มีนโยบายแข่งขันด้านค่าธรรมเนียม


แท็ก จีเอ็ม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ