ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป" ที่ “BBB/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 9, 2017 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ที่ระดับ “BBB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัท ตลอดจนกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท และแนวโน้มการเติบโตของพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนเนื่องจากบริษัทยังเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีผลการดำเนินธุรกิจที่ปรากฏในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัท

EP ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ต่อมาในปี 2555 บริษัทได้กลายมาเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจบริการด้านสิ่งพิมพ์ในประเทศ โดยบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกได้ซื้อกิจการของบริษัทมาจาก บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC)

การที่บริษัทสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้แก่บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก ตลอดจนอนาคตที่สดใสของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงทำให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก

ในเดือนมกราคม 2559 บริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิมคือ “บริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด" มาเป็น “บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)" หลังจากนั้นในช่วงกลางปี 2559 บริษัทก็ได้เพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลในวงจำกัด และได้เงินเพิ่มทุนจำนวน 750 ล้านบาทเพื่อใช้ในการซื้อกิจการของบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 2 แห่ง ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2560 EPCO ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 75%

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในปี 2555 บริษัทได้เริ่มดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 2 โครงการแรกในจังหวัดกาญจนบุรีด้วยขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2555

ต่อมาในปี 2556 บริษัทได้ก่อสร้าง Solar Farm เพิ่มขึ้นอีก 1 โครงการในจังหวัดลพบุรีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ในช่วงปี 2557-2558 บริษัทลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) จำนวน 8 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการโดยมีขนาดกำลังการผลิตรวม 1.5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการ Solar Farm และ Solar Rooftop ทั้งหมดของบริษัทได้เริ่มดำเนินการแล้วและมีสัญญา PPA ภายใต้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่น่าพอใจกับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ความมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งมาจากการมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่แน่นอนและมีความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินโดยผู้รับซื้อไฟฟ้าในระดับต่ำ

ในช่วงปี 2558-2559 บริษัทได้ซื้อกิจการและพัฒนาโครงการ Solar Farm ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ในจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 1,030 ล้านบาท และโครงการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2559 นอกจากนี้บริษัทยังได้ลงทุนในโครงการ Solar Farm สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ในจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 268 ล้านบาทด้วย โครงการนี้เริ่มผลิตไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2559 โดยมีสัญญา PPA กับ กฟภ. และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (Feed-in-tariff -- FiT) ที่ราคา 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 25 ปี

นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว บริษัทยังได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของบริษัท 2 แห่งคิดเป็นมูลค่า 3,160 ล้านบาท การลงทุนดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มขนาดกำลังการผลิตและขยายสัดส่วนการใช้พลังงานชนิดต่าง ๆ ในการผลิตไฟฟ้าของบริษัท ในการนี้ บริษัทได้ซื้อหุ้น 49.5% ของ บริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) และ 40% ใน บริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) โดยบริษัททั้งสองเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ซึ่งมีสัญญา PPA กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปีและมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

โรงไฟฟ้า PPTC ซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังได้เริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ด้วยขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง PPTC มีสัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จำนวน 90 เมกะวัตต์และมีสัญญาขายไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์และสัญญาขายไอน้ำ 5 ตันต่อชั่วโมงกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วน SSUT นั้นมีโรงไฟฟ้า 2 โรงซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 240 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 60 ตันต่อชั่วโมง โรงไฟฟ้าของ SSUT ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ และได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ครบทั้งหมดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 โดยมีสัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จำนวน 180 เมกะวัตต์ และมีสัญญาขายไฟฟ้า 27 เมกะวัตต์และสัญญาขายไอน้ำ 11.6 ตันต่อชั่วโมงกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดว่า SSUT จะสามารถขายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ การลงทุนซื้อกิจการเหล่านี้จะเพิ่มผลกำไรให้แก่บริษัทจากการที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้แก่บริษัทได้อีกถึง 155.4 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการลงทุน (หรือ 155.4 MWe) ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 192 MWe

การประเมินอันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งเป็นที่น่าพอใจด้วย กล่าวคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า (Performance Ratio -- PR) เฉลี่ยสูงกว่า 80% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 บริษัทผลิตไฟฟ้าได้ 17.6 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตจากโครงการ Solar Farm สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์และโครงการ Solar Farm ที่จังหวัดเกียวโต โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทสร้างรายได้จำนวน 249 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นถึง 43% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 อีกทั้งบริษัทยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจำนวน 64 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อีกด้วย ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 70%-80% ในช่วงปี 2556 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2560

การประเมินอันดับเครดิตยังได้พิจารณารวมไปถึงแนวโน้มการเติบโตของการใช้แหล่งพลังงานทดแทนต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วย โดยรัฐบาลไทยมีแผนระยะยาวที่แน่นอนในการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกซึ่งเห็นได้จากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลงานในธุรกิจพลังงานที่ยังมีไม่มากก็มีผลกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทั้งนี้ ผลงานการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพื่อให้ได้ระดับผลผลิตที่มีเสถียรภาพในระยะยาวยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป อีกทั้งบริษัทยังได้มีการลงทุนมูลค่าสูงในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมซึ่งมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้า PPTC ก็ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ ในขณะที่โรงไฟฟ้า SSUT นั้นยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอยู่

อันดับเครดิตยังลดทอนลงจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัทด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 71.6% ณ เดือนมิถุนายน 2560 เพิ่มขึ้นจาก 67.2% ในปี 2559 จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงอย่างมากโดยมาอยู่ที่ 4% ในปี 2559 และ 3.3% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ซึ่งลดลงจากระดับที่มากกว่า 20% ในช่วงปี 2556-2558 บริษัทยังตั้งเป้าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นอีก โดยบริษัทมีแผนลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นขนาดกำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,700-3,000 ล้านบาทซึ่งมีแผนก่อสร้างในช่วงปี 2561-2562 หากโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการก็จะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อสร้างโครงการ ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะส่งผลกดดันต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2560-2563 ในระยะสั้นทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังไม่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าขนาด 25 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว อย่างน้อยจนกว่าบริษัทจะสามารถระดมทุนเพิ่มได้จากการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering -- IPO)

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 192 MWe ซึ่งประกอบด้วยกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 36.5 เมกะวัตต์และจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 155.4 MWe โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นคาดว่าจะมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า 80% และปริมาณไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้จากสมมติฐานดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในช่วง 45-50 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในระหว่างปี 2560-2563 รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 450-500 ล้านบาทต่อปี และทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพและทำสัญญาขายไฟฟ้ากับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนได้มากขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาทและจะเพิ่มขึ้นเป็น 700-750 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2563 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วง 75%-80% ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ในช่วง 500-550 ล้านบาทต่อปี EBITDA และเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม อย่างไรก็ตาม คาดว่า EBITDA จะค่อย ๆ ลดลงจากการหมดอายุของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ส่วนในช่วงปี 2560-2563 นั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 70%-75% จากการกู้ยืมเพื่อใช้ในการลงทุน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและรักษาผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยไม่มีต้นทุนทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินงานโรงไฟฟ้าใหม่ได้ตามแผน และยังคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดในระดับสูงได้อย่างสม่ำเสมอและมีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ โดยที่โครงสร้างเงินทุนจะไม่อ่อนแอลงจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจและสามารถสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากได้แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ซับซ้อนขึ้น ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทไม่สามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจและสร้างผลงานในธุรกิจให้ปรากฏอย่างต่อเนื่องได้ หรือไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอ หรือมีโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ