KTBST มอง SET สัปดาห์นี้ผันผวนสูงให้กรอบ 1,673-1,720 ต่างชาติชะลอลงทุน-ขาดปัจจัยหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 13, 2017 10:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST ประเมินตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (13-17 พ.ย.) ว่าดัชนีฯจะผันผวนสูงในกรอบ 1,673-1,720 จุด โดยนักลงทุนต่างประเทศ ยังมีแนวโน้มชะลอการลงทุนหรือขายหุ้นหลังกฎหมายภาษีของสหรัฐฯยังไม่คืบหน้า และแรงขายทำกำไรหลังบริษัทต่าง ๆ มีการส่งงบการเงินมีเข้ามาในตลาดมากขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ของตลาดปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการขายทำกำไร และการพักฐานของตลาดยังดำเนินต่อจนถึงสัปดาห์นี้

ดังนั้นด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมามาก และขาดปัจจัยหนุนต่อไม่ว่าจะเป็นของตัวหุ้นหรือตลาดเอง ทำให้มีแรงขายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เห็นการสลับเข้าซื้อหุ้นที่มีปัจจัยหรือข่าวบวกสนับสนุนด้วยเช่นกัน กลยุทธ์การลงทุน ในภาวะแบบนี้ คือ ลดการถือหุ้นที่ขึ้นมามากหรือเป็นหุ้นที่ถูกขายมากกว่าซื้อ หรือหุ้นที่รายงานกำไรและออกมาไม่ดีหรือต่ำกว่าคาด รอจังหวะซื้อเมื่อการปรับฐานจบหรือเลือกลงทุนแบบ selective

ขณะที่หุ้นที่ได้ปัจจัยบวกจากมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจะชะลอลงหรือมีการถูกขายทำกำไร จากนี้รอดูมาตรการลำดับต่อไป คาดว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งหุ้นที่ประโยชน์จะเป็นกลุ่มโรงแรม อาทิ CENTEL, MINT, ERW , KTC และโครงการลงทุนต่าง ๆ และการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะหลังการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีคนใหม่ จะเร่งสร้างผลงาน ผลบวกจะเป็นในภาครวมของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นมากกว่า

สำหรับหุ้นแนะนำในสัปดาห์นี้ได้แก่ BEM , BDMS, CCET , BTSGIF , ASAP ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในสัปดาห์นี้ที่ 1,673 -1,720 จุด

ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ มาตรการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ อาจจะมีความล่าช้าขึ้นกว่าเดิม หลังมีรายงานว่าสมาชิกวุฒิสมาชิกพรรครีพับริกันจะมีการชะลอการบังคับใช้กฏหมายออกไป 1 ปี เพื่อลดภาระการขาดดุลการคลัง ซึ่งมองว่าผลการอนุมัติการบังคับใช้กฏหมายนี้จะรู้ผลในช่วงก่อนวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเข้าสู่วันหยุดยาว โดยมองว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนไปจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบมองว่ามีโอกาสที่จะเข้าใกล้ 60 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ โดยมีปัจจัยหนุนจากนโยบายที่แนวโน้มที่จะพยุงราคาน้ามันดิบ ซึ่งมูลค่าส่งออกน้ามันของซาอุดิอาระเบียคิดเป็นกว่า 5% ของมูลค่าน้ามันทั่วโลก และผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ กลับมามีความร่วมมือกันมากขึ้นที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมัน

ส่วนปัจจัยในประเทศค่าเงินบาททรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 33 บาท/ดอลลาร์ แม้ยังคงมุมมองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าในระยะยาว แต่ภาพระยะสั้น ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าจากประเด็นเรื่องนโยบายปฎิรูปภาษีของทรัมป์อยู่ เป็นลบต่อหุ้นกลุ่มส่งออก ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเริ่มเห็นความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานเข้ามา ในช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่ารวม 7.45 แสนล้านบาท จึงมองว่ามีความเป็นไปได้ที่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะเข้า ครม. ในช่วงสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ