GULF เปิดจองซื้อ IPO 17,20-21 พ.ย.เคาะราคาเสนอขายสุดท้าย 22 พ.ย.เข้าเทรด 6 ธ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 14, 2017 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) คาดว่าจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ของ GULF ในช่วงระหว่างวันที่ 17, 20-21 พ.ย.นี้ โดยมีช่วงราคา IPO ที่ 40-45 บาท/หุ้น ซึ่งจะมีการประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายในวันที่ 22 พ.ย 60 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) วันที่ 6 ธ.ค.60

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสาย Primary Distribution ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หนึ่งในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ GULF ร่วมกับ บล.กสิกรไทย และ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า GULF จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO ในราคาสูงสุด หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาดังกล่าวก็จะคืนเงินส่วนต่างให้กับนักลงทุนที่จองซื้อ IPO

GULF จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 533.3 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 24.99% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนในครั้งนี้ โดยจะแบ่งเป็นการเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันในและต่างประเทศ 65% และเสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยในสัดส่วน 35%

นอกจากนี้ ในวันทำการซื้อขายวันแรกของการซื้อขายใน SET ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จะเข้าซื้อหุ้นสามัญเดิมของบริษัทจากกลุ่มนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ในจำนวนหุ้นที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 พันล้านบาท (Big-Lot Board) ในราคาเดียวกับราคาเสนอขาย IPO ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากคณะกรรมการของ BBL ภายในเดือนพ.ย.นี้ โดย BBL จะมีสัดส่วนในการถือหุ้น GULF ภายหลังการเสนอขาย IPO อยู่ที่ 3.1-3.5%

นางสาววีณา กล่าวว่า นักลงทุนจะมีความมั่นใจในวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและพื้นฐานการดำเนินงานของบริษัทในธุรกิจไฟฟ้าที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต ประกอบกับบริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและเตรียมทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่องอีกหลายโครงการ ส่งผลให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยที่โดดเด่น และได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันเป็นอย่างมาก

ด้านนายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ GULF เปิดเผยว่า การระดมทุนโดยการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งบริษัทจะใช้เงินเงินเพื่อการลงทุนในโครงการต่างๆในอนาคต ได้แก่ GTS4, GNC, GBL,GBP และโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆภายใต้กลุ่ม GMP ที่เหลือ โรงไฟฟ้า IPP และโครงการโรงไฟฟ้า SPP ชีวมวลของ GCG รวมถึงการลงทุนโครงการอื่นๆในอนาคต และยังนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระคืนเงินกู้ยืมธนาคารและไถ่ถอนหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัท และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

สำหรับแผนงานของบริษัทตั้งเป้าในปี 67 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 11,000 เมกะวัตต์ โดยคิดเป็นสัดส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของ 6,300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด (Market share) ในประเทศไทยอยู่ที่ 20.4% ในปี 67 จากปี 59 อยู่ที่ระดับ 7.2%

โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 1.96 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 156.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเติบโตมากกว่า 400% หรือมาอยู่ที่ 2.73 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 500 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ