ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2 พันลบ.KSL ที่ระดับ “A/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 29, 2017 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกัน โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดนี้จะนำไปชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของบริษัท

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากวัฏจักรราคาน้ำตาล และความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และกัมพูชา ตลอดจนภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง

KSL ก่อตั้งในปี 2488 โดยครอบครัวตระกูลชินธรรมมิตร์และกลุ่มพันธมิตร ณ เดือนเมษายน 2560 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 68% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2560 เท่ากับ 110,000 ตันอ้อยต่อวัน

KSL เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทย กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นหีบอ้อยได้ 6.8 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2559/2560 และผลิตน้ำตาลได้ 724,549 ตัน ส่งผลให้บริษัทเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.2% โดยเป็นรองกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 19.7% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 14.1% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.4%

ตั้งแต่ปีการเงิน 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและเอทานอล ทั้งนี้ ในช่วงปีการเงิน 2559 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้รวมของบริษัท

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 บริษัทมีรายได้ลดลงเป็น 11,724 ล้านบาท หรือลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 จาก 16.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2559 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลเพิ่มขึ้น บริษัทและผู้ผลิตน้ำตาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในช่วงปลายปี 2559 จนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำตาลอยู่ในระดับสูง

การปรับตัวที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลช่วยชดเชยความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจพลังงานของบริษัทที่ยังอ่อนตัวลง นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นยังส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจใน สปป. ลาว และกัมพูชาปรับตัวดีขึ้น ธุรกิจน้ำตาลในประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชามีกำไรเล็กน้อยในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมของบริษัทจึงเพิ่มขึ้น 23% เป็น 2,867 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 จาก 2,323 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีการเงิน 2559

บริษัทมีการก่อหนี้ค่อนข้างสูง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 58.6% ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 เนื่องจากมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนตามฤดูกาลและการขยายกำลังการหีบอ้อย ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวขึ้นลงตามวัฏจักรราคาน้ำตาล อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเท่ากับ 5.7 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 เพิ่มขึ้นจาก 3.9 เท่าในปีการเงิน 2559 และ 3.6 เท่าในปีการเงิน 2558 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเท่ากับ 8.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 เมื่อเทียบกับระดับ 7.3% ในปีการเงิน 2559 และ 9.1% ในปีการเงิน 2558

คาดการณ์ว่าผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีการเงิน 2560 จะอ่อนแอ เนื่องจากบริษัทจะมีการส่งมอบน้ำตาลที่มีการทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในช่วงที่ราคาอยู่ระดับต่ำ ดังนั้น เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1,500 ล้านบาท ในปีงบการเงิน 2560 ใกล้เคียงกับระดับที่บริษัททำได้ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตน้ำตาลที่มากขึ้น ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยและการขยายกำลังการหีบอ้อยของบริษัทในจังหวัดเลยจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำตาลและลดต้นทุนของบริษัท

นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปานกลางที่ 15-16 เซนต์ต่อปอนด์ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ระดับการก่อหนี้ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงตามค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทที่น้อยลง ส่วนใหญ่เนื่องจากเป็นการลงทุนซึ่งใช้สำหรับการขยายกำลังการหีบอ้อยในจังหวัดเลยและอำเภอน้ำพองจะแล้วเสร็จภายในปีการเงิน 2560 เงินลงทุนของบริษัทจะลดลงจาก 3,000 ล้านบาทในปีการเงิน 2560 เหลือเพียง 500 ล้านบาทต่อปีในระยะต่อไป

เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานการฟื้นตัวของกำไรและงบลงทุนที่ลดลงดังกล่าวแล้ว ความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทก็คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ในช่วง 10%-15% ในปีการเงิน 2561-2562 สภาพคล่องของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แม้ว่าบริษัทจะมีหนี้สินระยะยาวและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระจำนวน 3,400-4,600 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปีการเงิน 2560-2563 และตั๋วแลกเงินคงค้างอีกจำนวน 500 ล้านบาท บริษัทก็ยังมีช่องทางระดมทุนในตลาดตราสารหนี้และมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารต่าง ๆ มากกว่า 9,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการบริหารจัดการการชำระหนี้ที่ครบกำหนดดังกล่าว

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยเอาไว้ได้แม้ภายหลังการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทได้รับผลตอบแทนจากการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลตามแผนและจะสามารถจัดการภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะสั้นจากสถานะทางการเงินในปัจจุบันและภายใต้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังคงดำเนินอยู่ ขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงและกำไรอ่อนแอมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ