VTE-ECF-QTC คาดโรงไฟฟ้ามินบู ในเมียนมา เฟสแรก 50 MW เสร็จกลางปี 61 ก่อนเล็งนำเข้าตลาดหุ้นไทยระดมทุนสร้างเฟสต่อไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 4, 2017 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

VTE-ECF-QTC เดินหน้าลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาด 220 เมกะวัตต์ ในเมียนมา ภายใต้บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP ซึ่งการก่อสร้างระยะที่ 1 ขนาด 50 เมกะวัตต์ คาดแล้วเสร็จและเตรียมรับรู้รายได้ภายในกลางปี 61 หลังจากนั้นเตรียมนำ GEP เข้าตลาดหุ้นไทยเพื่อระดมทุนใช้พัฒนาโรงไฟฟ้าในระยะต่อไป พร้อมทั้งเตรียมยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตรัฐบาลเมียนมาเพื่อเร่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 เฟสให้เร็วขึ้นเป็นภายใน 2-3 ปี จากกำหนดเดิมที่วางไว้ภายใน 4 ปี สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้ง 4 เฟสคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท

นายออง ทีฮา ประธานกรรมการ ของ GEP ในนามผู้บริหารจัดการและพัฒนาโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ (MW) ณ เมืองมินบู ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ 4 บริษัท โดยมีผู้ลงทุนหลักคือ บมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE) , บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF), บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) และ Planet Energy Holding PTE. Ltd. (PEH) โดยได้รับสัมปทานเพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 USD/kWh

แบ่งเป็น ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ โดย 3 ระยะแรกจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 50 MW และ 70 MW ในระยะสุดท้าย พื้นที่รวมของโครงการมีขนาด 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ซึ่งได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาลและบริษัทในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยเมื่อมีการผลิตไฟแล้วจะขายให้กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE), กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระยะที่ 1 ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 50 MW โดยมีจุดเชื่อมต่อระยะทางความยาว 1.3 ไมล์หรือประมาณ 2.09 กิโลเมตรขนาด 230 kV กับสายส่ง National Grid ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบให้ EPGE ตั้งแต่เดือน ก.ค.59 ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูจะเสร็จสิ้นพร้อมเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ระยะที่ 1 ในช่วงกลางปี 61 จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้าง ระยะที่ 2 ต่อทันที

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh/ปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 217,256 ครัวเรือน สอดคล้องกับความปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น คาดการณ์อัตราการเติบโตความต้องการการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยถึงร้อยละ 11.7 ต่อปี อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของเมียนมา มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ณ ปี 58 คาดว่าการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อให้การเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนที่อัตราการเติบโตดังกล่าว จะทำให้การเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 87 ภายในปี 73 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมา ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แล้วจำนวน 5,134 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 61-64 อีก 996 MW

นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร ของ VTE เปิดเผยว่า VTE ได้เข้าร่วมลงทุนใน GEP ในสัดส่วนร้อยละ 12 นอกจากการเป็นผู้ถือหุ้นแล้วยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูทั้งหมด การเข้าลงทุนในประเทศเมียนมาในครั้งนี้เป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจของ VTE ทั้งส่วนที่เป็นงานรับเหมาก่อสร้างและพลังงานทดแทนให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตในประเทศที่โอกาสทางธุรกิจนั้นยังมีอย่างมหาศาล ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากสามารถขยายธุรกิจในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของรายได้เพราะจะมีรายได้แบบต่อเนื่อง (Recurring income) จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทโดยการเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศเมียนมา

สำหรับคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขณะนี้บริษัทดำเนินการไปแล้วประมาณ 49% และเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการรับเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/60 เป็นต้นไป โดยล่าสุดบริษัทได้เริ่มต้นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และรอการนำเข้าอุปกรณ์สร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าที่สั่งซื้อจากซีเมนส์ในอิตาลี คาดว่าจะนำเข้ามาครบทั้งหมดภายในเดือนก.พ.61 หลังจากนั้นคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.61 และเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในกลางปี 61 อย่างแน่นอน

หลังจากโรงไฟฟ้ามินบูเฟสแรกแล้วเสร็จ GEP จะเริ่มขั้นตอนกระบวนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อระดมทุนมาใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้าในเฟสต่อไป พร้อมทั้งเตรียมยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตรัฐบาลเมียนมาเพื่อเร่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 เฟสให้เร็วขึ้นเป็นภายใน 2-3 ปี จากกำหนดเดิมที่วางไว้ภายใน 4 ปี โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 4 เฟส คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท

โครงการทั้งหมดได้รับการสนับสนุนทางการเงินในลักษณะเงินกู้โครงการ (project finance) จากธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ขณะที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเมียนมา การันตีการเปิด L/C เพื่อส่งรายได้เข้ามายังบริษัทในไทยตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี โดยคาดว่าเมื่อครบทั้ง 4 เฟสจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 35 ล้านเรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งทั้งบริษัท ,ECF และ QTC ที่ถือหุ้นใน GEP ก็จะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละราย คาดว่าจะเริ่มรับรู้ตั้งแต่เฟสแรกในไตรมาส 3/61

นอกจากนั้น VTE ยังเจรจากับ ECF เพื่อจับมือกันเข้าศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เมืองฟุกุโอกะในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังผลิต 25 MW โดยจะเดินทางไปดูความเป็นไปได้ภายในต้นเดือนธ.ค.นี้ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเพิ่มเติมด้วย

ด้านนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ของ ECF กล่าวว่า การเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้ามินบูของกลุ่มบริษัทนั้น ได้ให้บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-Power) ในฐานะบริษัทย่อย เป็นผู้เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ GEP ในสัดส่วนร้อยละ 20 ซึ่งมั่นใจว่าการลงทุนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและสร้างการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัทต่อไปในอนาคต ก่อให้เกิดผลกำไรและกระแสเงินสดกลับสู่บริษัท และในท้ายที่สุดจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายโครงการ ปัจจุบัน ECF มีการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ทั้งส่วนที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ และส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นแล้วประมาณ 47 MW

ขณะที่นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ QTC กล่าวว่า บริษัทได้มอบหมายให้บริษัท คิวทีซี โกลบอลเพาเวอร์ จำกัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้ามินบู คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 เนื่องจากเห็นว่าประเทศเมียนมาเป็นประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้ทรัพยากรอีกมาก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นการต่อยอดในการขยายการลงทุนในประเทศนี้ได้อีกในอนาคต จากความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น โดยหากพิจารณาจากตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 44-56 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8% และคาดการณ์ช่วงปี 56-73 มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10%

“จากการศึกษาข้อมูลในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู พบว่ามีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าสูง โดยมีค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อแผงโซลาร์ที่ติดตั้งสูงถึงร้อยละ 78.28 และมีอายุสัญญาสูงถึง 30 ปี ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของเมียนมา เมื่อทยอยก่อสร้างครบ 4 ระยะ ขนาด 220 MW ตามแผนการดำเนินงาน และยังมีโอกาสการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเมียนมาให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคต" นายพูลพิพัฒน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ