(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับลงตามตปท. เล็งเกิด Sell on fact หลังตอบรับเรื่องแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐฯแล้ว,ขาดปัจจัยหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 6, 2017 09:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ติดลบกันเกือบทุกตลาด เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯที่ปรับตัวลง คาดว่าจะเป็น Sell on fact หลังจากที่ตลาดฯได้ตอบรับเรื่องแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันตลาดฯยังขาดปัจจัยหนุนเข้ามาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลาดฯคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นและจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น จากการโยกเงินกลับสหรัฐฯ และสกุลเงินต่างประเทศจะเกิดการอ่อนค่าในเชิงเปรียบเทียบ อีกทั้งในช่วงสั้นตลาดฯก็หมดข่าวบวกด้วย ทำให้อาจเกิดการ take profit ได้

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตลาดฯจะไม่ปรับตัวลงลึก เนื่องจากยังได้แรงหนุนจากเม็ดเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ช่วยประคองไว้ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้เข้ามาซื้อมากนัก

พร้อมให้แนวรับ 1,690-1,687 จุด ส่วนแนวต้าน 1,705 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (5 ธ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,180.64 จุด ร่วงลง 109.41 จุด (-0.45%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,629.57 จุด ลดลง 9.87 จุด (-0.37%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,762.21 จุด ลดลง 13.15 จุด (-0.19%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 97.00 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 12.37 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 11.47 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 25.82 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 4.11 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 7.56 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 2.07 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 12.60 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 0.07 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (4 ธ.ค.60) 1,697.61 จุด ลดลง 2.04 จุด (-0.12%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 203.38 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.60
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.61 ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (5 ธ.ค.60) ปิดที่ระดับ 57.62 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 15 เซนต์ หรือ 0.3%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (5 ธ.ค.60) ที่ 6.59 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 32.64 ตลาดรอดูความชัดเจนร่างกม.ภาษีสหรัฐฯ มองกรอบวันนี้ 32.60-32.70
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการล่าสุด ณ เดือน ต.ค. 2560 มีมูลค่ากว่า 8.32 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวในอัตราเร่งที่ 346.4%
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้เห็นชอบร่างกฎหมายลูกรวม 4 ฉบับ เพื่อเป็นการรองรับการลอยตัวน้ำตาล เช่น ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำประมาณรายได้ เป็นต้น
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดการผลิตเพื่อจำหน่ายของรถยนต์ปี 2561 เบื้องต้นที่ปริมาณ 1.96 ล้านคัน สูงกว่าปี 2560 ที่คาดว่ามียอดผลิต 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8.6 แสนคัน จากปี 2560 ที่คาดว่ามี 8.5 แสนคัน โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวดีและจะส่งผลดีต่อยอดขายรถยนต์ด้วย
  • กรอ.คาดปีหน้ามูลค่าลงทุนภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ปัจจัยหลักมาจากโครงการอีอีซี มีข้อแม้กฎหมายจะต้องชัดเจนเพื่อดึงดูดนักลงทุน แย้มจีนและญี่ปุ่นสนใจตั้งเขตกำจัดกากอุตฯรองรับโรงงานพาเหรดเข้าพื้นที่ในช่วง 5 ปี มูลค่าลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท เผยยอดรง.4 ช่วง 11 เดือนแตะ 4.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.94%
  • อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ คาดว่าจะเก็บได้สูงกว่าภาพรวมที่เก็บได้เฉลี่ยเดือนละ 8,000-9,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลดีจากการ จัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ช่วยเร่งยอดขายรถได้สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจน ทำให้การซื้อรถใหม่ หรือเปลี่ยนรถยนต์มีมากกว่าเดิม

*หุ้นเด่นวันนี้

  • GULF (บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สังกัดหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยราคาเสนอขาย IPO ที่ 45 บาท/หุ้น บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประเมินมูลค่าส่วนทุนที่เหมาะสมปี 61 ได้ 47.50-53.00 บาท โดยประเมินมูลค่ากิจการ GULF ด้วยวิธี DCF โดยใช้ WACC=5.7% สำหรับโรงไฟฟ้าหลัก (IPP&SPP) กำลังผลิตรวม 5,434.5 MW จะได้มูลค่าส่วนทุนที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าราว 47.4-53.0 บาท และอีก 0.10 บาท จากธุรกิจ Solar rooftop & Biomass (25.45 MW) รวมเป็น 47.50-53.10 บ. คิดจากกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 5,459.9-6,796.7 MW ตามลำดับ

ทั้งนี้ กำไรมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน(Equity MW) ที่มีอัตราเพิ่มถึง +15.7% CAGR ซึ่งจะส่งผลทำให้ GULF เป็นผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตาม Equity Contracted Capacity ด้วยส่วนแบ่งกำลังผลิต 17% ในปี 67F (อิงข้อมูล ณ 31 มี.ค.60)

โรงไฟฟ้าหลักของ GULF อยู่ในไทย เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีประสิทธิภาพสูง เป็นโรงไฟฟ้ามีอายุเฉลี่ยเพียง 3 ปี ในขณะที่มี PPA คงเหลือถึง 27 ปี (ถ่วงน้ำหนักตาม Equity MW)

  • ARROW (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 16.40 บาท ผู้บริหารคาดกำไร Q4/60 จะเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ จากทั้ง High Season และแรงกดดันด้านต้นทุนเหล็กที่ลดลง หลังจากราคาเหล็กเริ่มนิ่ง และมีการทยอยปรับขึ้นราคาขายท่อร้อยสายไฟ โดยปัจจุบันบันมีงานในมือ 680 ล้านบาท และเพิ่งได้งานโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ราว 120 ล้านบาท ส่วนปีหน้าจะทยอยส่งมอบให้รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โดยยังมีมุมมองที่ดีต่อการกลับมาเติบโตของกำไรในปี 2561 โดยคาด +25% Y-Y จากปีนี้คาด -21% Y-Y เพราะงานโครงสร้างพื้นฐานเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนเดินท่อร้อยสายไฟ และยังยืนยันให้ Switch จาก ZIGA เป็น ARROW จากการฟื้นตัวของกำไรที่ชัดเจนกว่า และ PE2561 ที่ 13 เท่า ต่ำกว่า ZIGA ที่ 16 เท่า
  • BBL (ไอร่า) เป้า 221 บาท ราคาปัจจุบันซื้อขายบน PBV และ PE ที่ต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น โครงการลงทุนภาครัฐช่วยหนุนสินเชื่อในปี 61 หลัง BBL ร่วมกับ KTB และ SCB สนับสนุนสินเชื่อให้โครงการสายสีชมพู และเหลือง (Syndicate Loan) วงเงินกู้รวม 63,360 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนของ BBL ประมาณ 33% หรือคิดเป็นวงเงิน 21,120 ล้านบาท คาดเริ่มเบิกจ่ายช่วง 4Q60 ในขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเริ่มก่อสร้างจริงในช่วงต้นปี 61 คาดเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตสินเชื่อของ BBL ในปี 61 พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 61 เติบโต 12% คาดอยู่ที่ 36,078 ล้านบาท (EPS 18.90 บาท) หลักๆ จากการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลงจาก 23,000 ล้านบาท ในปี 60 หลังเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว คาดวัฎจักร NPL เริ่มเป็นขาลง ทำให้คาดไม่ต้องตั้งสำรองหนี้จำนวนมากเช่นปี 60

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ