ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้และแนวโน้ม BANPU ที่ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 26, 2017 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. บ้านปู จำกัด (BANPU) ที่ระดับ “A+" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนความหลากหลายของฐานลูกค้าและแหล่งถ่านหิน รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาถ่านหินที่เป็นวัฏจักร ตลอดจนความต้องการใช้ถ่านหินที่ชะลอตัวซึ่งได้รับผลกระทบบางส่วนจากความพยายามที่จะลดมลพิษทางอากาศของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินของรัฐบาลประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก

บริษัทบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 โดยกลุ่มตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทมีแหล่งเหมืองถ่านหินกระจายอยู่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยบริษัทเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทมีกำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วน 44% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัท ในขณะที่กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 23% ของ EBITDA ส่วนที่เหลืออีก 33% เป็นกำไรจากประเทศจีน ประเทศไทย และประเทศสหรัฐอเมริกา

ถ่านหินที่บริษัทผลิตได้เริ่มมีปริมาณลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียลดลงประกอบกับการหยุดการผลิตถ่านหินชั่วคราวของเหมืองบางแห่งในประเทศออสเตรเลียในช่วงที่ราคาถ่านหินตกต่ำ ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทผลิตถ่านหินจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียรวมกันได้ 38 ล้านตัน ลดลง 2% จากปี 2558 สำหรับในปี 2560 นั้นบริษัทมีแผนจะผลิตถ่านหินเพียง 35 ล้านตันเท่านั้น โดยลดลงจากปีก่อน 8% อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็น 40 ล้านตันต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าหากถ่านหินยังคงมีราคาดีอยู่

ณ เดือนกันยายน 2559 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 519 ล้านตัน ปริมาณสำรองถ่านหินของเหมืองอินโดนีเซียเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตนาน 8.5 ปี ในขณะที่ปริมาณสำรองถ่านหินของเหมืองออสเตรเลียเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตมากกว่า 20 ปี ปริมาณสำรองถ่านหินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเพราะราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้น บริษัทวางแผนจะซื้อเหมืองถ่านหินขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับเหมืองปัจจุบันของบริษัทเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและการผลิต รวมทั้งเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 บริษัทได้ประกาศที่จะซื้อหุ้นจำนวน 70% ในเหมืองถ่านหิน PT Tepian Indah Sukses (TIS) ในประเทศอินโดนีเซียด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินให้แก่บริษัทได้อีกราว ๆ 4.7 ล้านตัน ทั้งนี้ คาดว่าเหมือง TIS จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

สถานะทางธุรกิจของบริษัทนั้นมีรายได้ที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้าเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง บริษัทยังได้ขยายกิจการสู่ธุรกิจไฟฟ้าเพื่อเพิ่มสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ที่แน่นอน ปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งทั้งในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ประเทศจีน และในประเทศญี่ปุ่น โดยมีกำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 2.07 กิกะวัตต์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทมี EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็น 19% ของ EBITDA รวมของบริษัท และบริษัทยังได้รับเงินปันผลจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วจำนวน 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย บริษัทยังคงขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าต่อไปโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 2.07 กิกะวัตต์ ณ ปัจจุบันเป็น 2.69 กิกะวัตต์ในปี 2563

จากความพยายามที่จะกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานและธุรกิจให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งนี้ ในช่วงปี 2559 จนถึงต้นเดือนธันวาคม 2560 บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยใช้เงินประมาณ 522 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อถือหุ้นใน 6 โครงการซึ่งได้เปิดดำเนินงานแล้ว โดยโครงการเหล่านี้ตั้งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งเป็นแหล่งที่มีก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาจำนวน 4 โครงการจาก 6 โครงการที่บริษัทลงทุนนั้นดำเนินงานโดยผู้บริหารแหล่งก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานที่มีชื่อเสียง

ในขณะที่อีก 2 โครงการนั้นบริษัทเป็นผู้ดำเนินงานเองโดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้ดำเนินงานรายเก่า คาดว่าธุรกิจก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานจะช่วยเพิ่ม EBTIDA ให้แก่บริษัทได้ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี บริษัทตั้งใจที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจนี้ให้เป็น 10%-15% ของ EBITDA รวมของบริษัท นอกจากการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานแล้ว บริษัทยังได้ซื้อหุ้น 28.86% ใน Sunseap Group Pte. Ltd. (Sunseap) ซึ่งอยู่ในประเทศสิงค์โปร์ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 55.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย Sunseap เป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรในประเทศสิงค์โปร์โดยมีธุรกิจที่ครอบคลุมไปถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาจนถึงระบบโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจากการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ยังคงต้องติดตามผลต่อไปเนื่องจากบริษัทมีประวัติการดำเนินงานที่ค่อนข้างจำกัดในธุรกิจดังกล่าว

บริษัทมีผลการดำเนินงานด้านการเงินดีขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 จากราคาถ่านหินที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ราคาถ่านหินได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายปฏิรูปการผลิตถ่านหินตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 เป็นผลให้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทสูงขึ้นเป็น 72.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้น 47% สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคา การที่ราคาขายถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าในประเทศจีน ส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 32.5% ในปี 2558 เป็น 33.1% ในปี 2559 และ 38.3% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายก็ดีขึ้นจาก 12% ในปี 2558 เป็น 22.4% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2560

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าหงสาก็มีส่วนช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยหลังจากที่ได้มีการซ่อมบำรุงใหญ่โรงไฟฟ้าหงสาในทุกหน่วยผลิตแล้วก็ส่งผลให้ค่าความพร้อมจ่าย (Commercial Equivalent Availability Factor -- EAF) ของโรงไฟฟ้าดีขึ้นจาก 55% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 เป็น 77% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 โดย EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้าค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 และ 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 จาก 119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 โดยรวมแล้วบริษัทมี EBITDA เพิ่มขึ้นจาก 377 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 เป็น 647 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560

โครงสร้างเงินทุนและความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากบริษัทได้นำ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2559 อย่างไรก็ตาม การลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานนั้นทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อโครงสร้างทุนอยู่ที่ 48.8% ณ เดือนกันยายน 2560 จาก 58.3% ณ สิ้นปี 2558 และ 49.8% ณ สิ้นปี 2559 ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทดีขึ้นจากราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้น โดยมี EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่าย(EBITDA Interest Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับ 6.3 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับระดับ 2.9-4.6 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 12.1% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับ 4.7%-11.2% ในปี 2557-2559

ราคาถ่านหินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากช่วยลดแรงกดดันต่อการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีถัดไป อย่างไรก็ตาม ผลผลิตถ่านหินทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ราคาถ่านหินปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินที่รัฐบาลจีนจะบังคับใช้ท่ามกลางการเติบโตของความต้องการถ่านหินที่ยังคงเปราะบางก็จะส่งผลทำให้ราคาถ่านหินมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น ภายใต้ประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงปี 2561-2563 บริษัทวางแผนงบลงทุนปีละประมาณ 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2561-2563 โดยไม่รวมการซื้อกิจการ เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนของบริษัทและประมาณการ EBITDA ดังกล่าวแล้วคาดว่าโครงสร้างหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดยมี EBITDA Interest Coverage Ratio ที่ประมาณ 4-5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-15% ในช่วงปี 2561-2563

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถ่านหินต่อไป โดยเงินปันผลรับจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของอุตสาหกรรมถ่านหินได้บางส่วน นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงินและบริหารการเงินอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินที่ดีกอปรกับความยืดหยุ่นทางการเงินจะช่วยให้บริษัทประคองตัวได้ในภาวะที่อุตสาหกรรมถ่านหินมีความผันผวน

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับขึ้นได้หากบริษัทมีสถานะการเงินที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากราคาถ่านหินลดลงจนทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความคาดหมายอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนโดยการก่อหนี้จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงและทำให้กระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้อันดับเครดิตถูกปรับลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ