QTC วางเป้ารายได้ปี 61 ที่ 900-1 พันลบ.จากตลาดหม้อแปลงแนวโน้มโตดี-รับรู้ธุรกิจพลังงานเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 3, 2018 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เปิดเผยว่า บริษัทประมาณการณ์รายได้ในปี 61 ราว 900-1,000 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้การขายหม้อแปลงจากงานเอกชน ขายต่างประเทศ งานโซล่าร์สหกรณ์ และการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานเต็มปี หลังจากซื้อกิจการ L-SOLAR เป็นที่เรียบร้อย รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าร่วมทุนมินบู เฟส 1 ในเมียนมาที่จะเปิดดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในกลางปี 61

สำหรับธุรกิจการผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงในปี 61 คาดว่าตลาดรวมหม้อแปลงไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นประมาณ 10% จากปี 60 โดยบริษัทได้มีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ลาว และกัมพูชา โดยเฉพาะหม้อแปลง AMORPHOUS ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้พลังงานลงถึง 30% ของการใช้พลังงานปกติของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทในด้าน CSR

ปัจจุบันบริษัทมียอดขายหม้อแปลงในมือ (backlog) จำนวน 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 61 อีกทั้งบริษัทยังมีแผนการเข้าประมูลงานการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อย่างต่อเนื่อง

“ในปี 61 ผลงานของบริษัทจะมีการปรับตัวที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในเรื่องของราคา ซึ่งบริษัทจะมีการทำการตลาดเชิงรุกในส่วนของหม้อแปลง AMORPHOUS ที่มีความโดดเด่น ในเรื่องของประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งเตรียมเข้าประมูลงานของหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน เพื่อให้ได้งานเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีงานอยู่ในมือแล้ว 200 กว่าล้านบาท"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว

ด้านการลงทุนในธุรกิจพลังงานในขณะนี้ บริษัท คิวทีซี โกลบอล เพาเวอร์ จำกัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ QTC ที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท แอล โซล่าร์ 1 จำกัด เพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าปี 61 จะมีรายได้ประมาณ 140 ล้านบาท

ส่วนโครงการร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ที่เมียนมาร์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเสร็จสิ้น และพร้อมเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ระยะที่ 1 ขนาดการผลิต 50 เมกะวัตต์ในช่วงกลางปี 61 และรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/61

นายพูลพิพัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาการลงทุนโครงการในอนาคต เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้อย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อสร้างความมั่นคงของการรับรู้รายได้ให้กับบริษัทฯในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ