PTT หนุนโครงการชี้แนวทางการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาให้กับอุตฯ นำร่องใช้ในไบโอดีเซล-เอทานอล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 9, 2018 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บมจ.ปตท.(PTT) บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการชี้ทิศทางและสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีฐานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวิศวกรรมปฏิกิริยาเคมีสำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเอทานอล และอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (CAT-REAC industrial project)"

สถาบันนวัตกรรม ปตท. ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางการวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยจากการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ยืดอายุการใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับ โดยการนำร่องใช้ในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและอุตสาหกรรมเอทานอล ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่ง ปตท. ยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบ Open Innovation ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ ให้บรรลุผลสำเร็จเป็นประโยชน์ต่อประเทศ อันจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

ทั้งนี้ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้ดำเนินการวิจัยและทดสอบประเมินประสิทธิภาพตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับให้กับ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. และบริษัทในกลุ่มนับตั้งแต่ปี 56-60 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาจากต่างประเทศรวมถึงลดความสูญเสียเนื่องจากการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับที่มีประสิทธิภาพต่ำได้กว่า 240 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน สถาบันนวัตกรรม ปตท. ยังคงดำเนินการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ