"นกสกู๊ด"คาดปี 61 พลิกมีกำไร รายได้พุ่ง 80% แตะหมื่นลบ. หลังขยายเส้นทางบินใหม่ไปญี่ปุ่น-เกาหลี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 31, 2018 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) คาดว่าในปี 61 บริษัทจะสามารถพลิกมามีกำไรได้มากกว่า 100 ล้านบาท จากปี 60 ขาดทุน 60 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ในปีนี้ จะเติบโต 80% มาแตะที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาทจากปีก่อนมีรายได้ 5.6 พันล้านบาท โต 44% จากปี 59 ขณะเดียวกันตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารปี 61 ขยายตัวมากเป็น 1.9-2.0 ล้านคน จาก 1.1 ล้านคนในปี 60 และตั้งเป้าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) เฉลี่ย 89% จากปีก่อนอยู่ที่ 87%

"ในปี 61 เราดูว่ายังมีการเติบโตได้อีก เราคาดว่า จะมีรายได้เติบโต 80% รายได้เกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเราหวังว่าปีนี้จะมีกำไร มากกว่า 100 ล้านบาท เราจะเพิ่มเครื่องบินใหญ่อย่างน้อย 1 ลำในไตรมาส 2/61...เราจะเดินตามแผนเดิมที่เราเคยวางไว้ก่อนหน้า จะทำการบินทั้ง Medium และ Long-hual "นายยอดชาย กล่าว

ปัจจัยหลักมาจาก ในปีนี้ สายการบินนกสกู๊ดจะเปิดเส้นทางบินใหม่แบบประจำไปยังญี่ปุ่น ที่นาริตะ และโอซาก้า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำการบินได้ในไตรมาส 2/61 ไปนาริตะก่อน และ อินชอนในเกาหลีใต้ คาดว่าเริ่มทำการบินได้ในช่วงครึ่งหลังปี 61 โดยมีแผนจะทำการบินวันละ 1 เที่ยวหรือ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ทั้ง 3 เส้นทาง ทั้งนี้ เส้นทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นจุดบินที่คนไทยยังมีความต้องการไปท่องเที่ยวต่อเนื่อง ขณะที่เส้นทางในจีนยังคงไว้จำนวน 6 เมืองได้แก่ ต้าเหลียง, นานกิง, ชิงเต่า,เทียนจิน, เสิ่นหยาง และซีอาน รวมทั้งเมืองไทเป ที่ไต้หวัน

และจะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 จำนวน 1 ลำในไตรมาส 2/61 จะทำให้สิ้นปี 60 สายการบินนกสกู๊ดมีเครื่องบินรวม 5 ลำ เพิ่มจากปี 60 ที่มีจำนวนฝูงบิน 4 ลำ อายุเฉลี่ย 14 ปี เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ทั้งหมด โดยในปี 62 จะรองรับเส้นทางไปเมืองเดลี และมุมไบ ประเทศอินเดีย

นอกจากนี้ สายการบินนกสกู๊ดมีแผนขยายฝูงบินต่อเนื่อง 3 ปี (ปี 62-64) รับมอบปีละ 2 ลำ รวม 6 ลำเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 เหมือนกัน ทั้งหมดเป็นการเช่า จากสิงคโปร์แดนไลน์

นายยอดชาย กล่าวว่า สายการบินนกสกู๊ด เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 58 แต่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้เพราะองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศติดธงแดงกับไทย ทำให้สายการบินนกสกู๊ดไม่สามารถบินเข้าไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จึงต้องแบกรับภาระต้นทุนทั้งเครื่องบิน และบุคคลากร ทำให้เกิดผลขาดทุนถึง 1,200 ล้านบาท ต่อมาในปี 59 บริษัทปรับแผนธุรกิจทำการบินไปจีน ซึ่งปัจจุบันบินไป 6 เมือง ทำให้ลดผลการขาดทุนได้ เหลือขาดทุน 600 ล้านบาท และในปี 60 ก็ทำการบินจีน และ ไต้หวัน ทำให้ผลขาดทุนลดลงเหลือ 60 ล้านบาท ขณะที่ในปี 61 จะรุกตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีตามแผนเดิม หลัง ICAO ปลดธงแดงเมื่อต.ค.60

อย่างไรก็ตาม สายการบินนกสกู๊ด จะพยายามทยอยล้างขาดทุนสะสม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ทั้งนี้ ในแผนระยะยาว สายการบินนกสกู๊ด จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ด กล่าวว่า บริษัทใช้เครื่องบินลำใหญ่ โบอิ้ง 777-200 ที่สามารถจุผู้โดยโดยสาร 415 ที่นั่ง ทำให้สามารถมีต้นทุนต่อที่นั่งต่ำกว่าคู่แข่ง ขณะที่เครื่องบินรุ่นนี้ไม่สามารถบินเข้าเมืองเล็กได้ โดยจะบินเข้าเมืองใหญ่ และเมืองที่มีประชากรหนาแน่น นอกจากนี้ เป็นเครื่องบินที่บินได้ในระยะกลางและระยะไกล ซึ่งได้เปรียบกว่าสายการบินต้นทุนต่ำอื่น และมีการใช้งานเครื่องบิน (Utilization ) ของเครื่องบิน 11.5 ชั่วโมง/วันในปี 60 และในปี 61 ตั้งเป้าใช้งานเครื่องบิน เป็น 13 ชั่วโมง/วัน

ส่วนราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ประเมินว่าในปีนี้ราคาน้ำมันอากาศยานอยู่เฉลี่ย 80 เหรียญ/ยาร์เรล ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยกระทบต่อผลกำไร อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันปรับขึ้นค่อยเป็นค่อยไปจะไม่รับผลกระทบมากกนักแต่หากมีการปรับตัวขึ้นกระทันหัน ก็จะปรับราคาตั๋วค่าโดยสารได้ แต่หากราคากระโดดสูงอย่างรวดเร็ว หรือผันผวนก็บริหารจัดการยาก โดยบริษัทมีต้นทุนค่าน้ำมัน 30% ของต้นทุนรวม ทั้งนี้บริษัทไม่มีนโยบายทำประกันความเสี่ยงน้ำมันเพราะบริษัทมีขนาดเล็กไป

ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมธุรกิจการบินสูงมาก แต่บริษัทยังได้เปรียบที่มีต้นทุนต่อที่นั่งต่ำกว่ารายอื่น ก็ยังแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม สายการบินนกสกู๊ดจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสายการบินนกแอร์ ซึ่งถือหุ้นอยู่ 49% และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร Value Alliance ซึ่งเป็นการรวมตัวของสายการบินราคาประหยัด 7 สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

ทั้งนี้ความรวมมือระหว่างสายการบินนกสกู๊ดกับสายการบินนกแอร์ จะเริ่มขึ้นภายในเดือนมี.ค.นี้ด้วยบริการส่งกระเป๋าจากต้นทางไปถึงจุดหมายปลายทางสุดท้าย (baggage check-through service) อีกทั้งยังเปิดให้ผู้โดยสารสามารถสำรองที่นั่งในทุกเส้นทาง ที่ให้บริหารโดยสายการบินนกสกู๊ด และสายการบินนกแอร์ ผ่านเว็บไซด์ของทั้งสองสายการบิน

นอกจากนี้ สายการบินนกสกู๊ดกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาการทำเที่ยวบินร่วม (Codeshare Flight) รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ร่วมกับสายการบินในกลุ่ม Value Alliance และเครือข่ายพันธมิตรในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ