โบรกฯเชียร์ "ซื้อ"LHBANK รับแผนขยายฐานลูกค้าเด่นหลังจะเปิด Trade Finance หนุนสินเชื่อปีนี้โต แม้ยังเสี่ยงตั้งสำรองฯเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 16, 2018 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) จากความโดดเด่นของการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ จากการที่ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) จะสามารถเปิดให้บริการ Trade Finance ซึ่งจะสามารถขยายฐานลูกค้าสินเชื่อธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้สินเชื่อของธนาคารสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 10-15% ในปีนี้

นอกจากนี้การที่ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC) เข้ามาเป็นพันธมิตรจะสามารถช่วยสนับสนุนการให้บริการด้าน Trade Finance อีกทั้งจะสามารถเสริมศักยภาพในด้านบริการ Digital Banking ที่จะสามารถเข้ามาสนับสนุนการบริการลูกค้าและต่อยอดการนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้กับลูกค้าได้ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ตาม LHBANK ยังมีปัจจัยกดดันจากประเด็นการตั้งสำรองฯหลังธนาคารต้องการเพิ่ม Coverage ratio เป็นมากกว่า 120% และเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะควบคุมให้ไม่เกิน 2%

ช่วงบ่ายหุ้น LHBANK อยู่ที่ 1.69 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.43%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ                 ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเซีย พลัส                    ซื้อ                        2.05
          เคทีบี (ประเทศไทย)             ซื้อ                        1.92
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)           ทยอยซื้อ                      1.84
          แอพเพิล เวลธ์                  ซื้อ                        1.82

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า LHBANK เป็นหุ้นที่เหมาะกับการลงทุนในระยะยาว เพื่อรอการเพิ่มศักยภาพของการให้บริการที่ได้มาเพิ่มเติม หลังจาก CTBC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ โดยคาดว่าเริ่มเห็นผลในช่วงปลาย 61 เป็นต้นไป เนื่องจากยังต้องรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเริ่มบริการ Trade Finance ซึ่งทาง CTBC มีความเชี่ยวชาญ และหากได้รับการอนุมัติแล้วจะส่งผลให้ LHBANK มีแนวโน้มที่จะปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก อีกทั้งความชำนาญของ CTBC ในด้าน Digital Banking ก็จะเสริมให้ LHBANK มีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตามปรับประมาณการกำไรสุทธิของ LHBANK ในปี 61 ลดลง 4% มาอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาท หรือเติบโต 7% จากปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ(Credit Cost) มาเป็น 50 bps จากเดิมที่ 40 bps เพราะความเสี่ยงจากมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 และการเพิ่มระดับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในปีนี้ให้เป็นมากกว่า 120% จากปีก่อนที่ 104.4% ทำให้ต้องมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น อีกทั้งการหันมาเน้นการรุกสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.23% จากปีก่อนที่ 2.25%

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากที่มี CTBC เข้ามาเป็นพันธมิตร ก็ช่วยเสริมศักภาพให้กับธนาคารที่จะสามารถหนุนการปล่อยสินเชี่อและรายได้ค่าธรรมเนียมให้เพิ่มขึ้น ซึ่งบริการด้าน Trade Finance ที่ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเปิดให้บริการ และทำให้ธนาคารเสนอบริการดังกล่าวกับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นรายใหม่ จากเดิมที่ให้บริการได้เพียงการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งส่งผลให้มีลูกค้าที่หลากหลายขึ้น

ส่วนการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมจะมาจากบริการ Digital Banking ซึ่ง CTBC มีความเชี่ยวชาญ จะช่วยในการเชื่อมต่อการให้บริการไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของธนาคารและบริษัทในเครือได้ ซึ่งมองว่าจะเห็นการขายผลิตภัณ์ข้ามกลุ่ม (cross-sell) เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบริการด้าน Wealth Management ทำให้ลูกค้าได้มีช่องทางในการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ และเป็นผลบวกต่อรายได้ค่าธรรมเนียมได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนประมาณการกำไรของ LHBANK ในปี 61 คาดว่าอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.1% จากปีก่อน

นักวิเคราะห์บล.แอพเพิล เวลธ์ คาดว่ากำไรสุทธิของ LHBANK ในปี 61 จะอยู่ที่ 2.86 พันล้านบาท หรือเติบโต 10% จากปีก่อน ซึ่งมีมุมมองเชิงบวกในแง่ของการที่ธนาคารมีเป้าหมายที่จะเพิ่ม NIM มาอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งจะมีการขยายสินเชื่อในปีนี้ให้เติบโต 10-15% โดยสินเชื่อที่ธนาคารยังคงรุกหนักยังเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีการขยายฐานลูกค้าจากพันธมิตร CTBC ที่เข้ามาช่วยในการเพิ่มฐานลูกค้า และการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้เติบโต 25-30% จากการให้บริการธุรกิจกองทุนและโบรกเกอร์ รวมถึงการให้บริการ Digital Banking ซึ่งทาง CTBC มีความชำนาญ จะเข้ามาช่วยเสริมและต่อยอดไปสู่การเสนอผลิตภัณฑ์อื่นให้กับลูกค้า

อีกทั้งในแง่ของ NPL ยังไม่มีความกังวลมากนัก โดยธนาคารได้ตั้งเป้าคุม NPL ไม่ให้เกิน 2% แต่ในแง่ของการตั้งสำรองฯอาจจะเพิ่มขึ้นบ้างจากเป้าหมายของการเพิ่ม Coverage Ratio เป็นมากกว่า 120% แต่มองว่าไม่มีผลกระทบต่อกำไรของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ