PTTEP หวังปริมาณขายปิโตรเลียมปีนี้มากกว่าเป้า หลังมองดีล M&A ชัดเจนใน H1/61 ,มั่นใจพร้อมประมูลบงกช-เอราวัณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 26, 2018 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปริมาณขายปิโตรเลียมปีนี้อาจจะทำได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ระดับ 3.02 แสนบาร์เรล/วัน หลังจะเข้าซื้อสัดส่วนในแหล่งบงกชจากกลุ่มเชลล์เพิ่มเข้ามาอีก 22.2222% จะส่งผลให้ ปตท.สผ.ถือหุ้นในแหล่งดังกล่าวเพิ่มเป็น 66.6667% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกปีนี้ รวมถึงการทำดีลซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) แหล่งผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคตะวันออกกลางและอาเซียน ปัจจุบันได้ยื่นข้อเสนอไป 2-3 โครงการ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน โดยคาดว่าจะรู้ผลได้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้

ขณะเดียวกันในปีนี้ ปตท.สผ.ก็จะยังคงผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งสิริกิติ์ (S1) ให้อยู่ในระดับราว 27,000-28,000 บาร์เรล/วัน เพื่อชดเชยการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทย ที่มีโอกาสจะถูกเรียกก๊าซฯลดลงในช่วงกลางปีนี้ เพราะอาจจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามามากขึ้นตามทิศทางราคา LNG ที่จะอ่อนตัวลงในช่วงกลางปี และจะปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปีตามสภาพอากาศที่หนาวเย็น

"เราตั้งเป้าปริมาณขายของเราให้ได้ราว 3 แสนบาร์เรล/วันสำหรับโครงการปัจจุบันที่มีอยู่ในมือ ไม่รวม M&A เพิ่มเติม ตอนนี้เราบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเชลล์ในแหล่งบงกชแล้ว ก็คาดว่ากระบวนการน่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลภายในไตรมาส 1-2 ก็จะมีปริมาณตรงนี้เข้ามาอีก 35,000 บาร์เรล/วัน ขึ้นอยู่กับว่าจะเริ่มนับกลางปีนี้ หรือไตรมาส 2-4 และโครงการ M&A ที่มีอยู่ในมือและอยู่ในขั้นตอนการประมูล ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ในกรณี M&A แม้จะเน้นภูมิภาคในไทย เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่เนื่องจากโอกาสมีไม่มากเท่าที่เราต้องการ ต้องเริ่มจับตามองในตะวันออกกลางในโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อเกิดราคาน้ำมันผันผวนก็ยังสามารถทำการผลิตได้คุ้มทุน โครงการอาจจะมีความเสี่ยงต่ำ ก็ต้องจ่ายราคาสูงหน่อย แต่ต้องมั่นใจว่าคุ้มทุน"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า ปตท.สผ.มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ ที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 โดยมีความพร้อมทั้งด้านกำลังคน และศักยภาพทางด้านการเงิน โดยปัจจุบันมีเงินสดในมือกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีศักยภาพในการกู้เงินอีกจำนวนมาก เนื่องจากมีหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) จากภาครัฐบาล ที่คาดว่าจะออกมาในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ สำหรับแหล่งปิโตรเลียมบงกช ซึ่งปัจจุบันปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ (operator) และมีบริษัท โททาล ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำจากฝรั่งเศสเป็นผู้ร่วมทุน มีสัดส่วนการลงทุน 33.3333% ก็จะร่วมกันเข้าร่วมประมูลในแหล่งดังกล่าว ส่วนแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ.ถือสัดส่วนอยู่ราว 5% โดยมีกลุ่มเชฟรอน เป็นผู้ดำเนินการนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเพื่อบรรลุข้อตกลงในการเข้าประมูลแหล่งดังกล่าวร่วมกัน แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ปตท.สผ.ก็พร้อมที่จะแยกประมูลเอง

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. ก็ไม่ได้ปิดกั้นหากจะมีพันธมิตรรายอื่น จะเข้าประมูลร่วมกันอย่างกลุ่มมูบาดาลา ปิโตรเลียม ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ให้ความสนใจจะเข้าประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณ เพื่อขยายฐานการลงทุนในประเทศไทยด้วย

"แหล่งเอราวัณ เรายังคงหารือกับพันธมิตรเหมือนเดิม เราก็อยากรอความชัดเจนของ TOR แล้วมาคุยกัน ถ้าได้ข้อตกลงเป็นที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย ก็จะร่วมประมูล ขณะเดียวกันเราก็เตรียมความพร้อมในการแยกประมูล เราก็รอความชัดเจนเงื่อนไขการประมูลจาก TOR หากเราไม่ได้หุ้นเพิ่ม หรือไม่ได้แนวทางการประมูลที่เรารับได้ ก็จะเข้าประมูลเอง ก็คงมีรายละเอียดอีกที่เราจะต้องคุยกัน"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า ปตท.สผ. ยืนยันว่าปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในแหล่งบงกช ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะยังคงเป็นไปตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่ แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะไม่ได้มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการผลิตต่อไปอีกหรือไม่หากหมดอายุสัมปทานแล้ว แต่ก็มั่นใจว่าหากผลประมูลออกมาในทิศทางใด ปตท.สผ.ก็พร้อมที่จะปรับแผนลงทุนรองรับได้ โดยหากสามารถชนะประมูลได้ก็จะพิจารณาปรับแผนลงทุนเพื่อเพิ่มการผลิตได้ภายใต้เงื่อนไขรายละเอียดที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะให้การผลิตจากแหล่งบงกช และเอราวัณ มีกำลังผลิตก๊าซฯไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

"ในช่วง 2-3 ปีหลังที่เรายังไม่มีความมั่นใจว่าเราจะได้สัมปทานหรือไม่ เราก็ไม่ได้มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ การที่เราวางแผนดังกล่าวอัตราการผลิตช่วงนั้นก็ต้องลดลง...แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้กำลังการผลิตจะยังคงเป็นไปตามสัญญา ตามข้อกำหนดซื้อขายก๊าซฯ ก็จะลดลงเล็กน้อยจากในอดีตเพราะมีการนำเข้า LNG ที่มีราคาถูกลงเพราะอยู่ในช่วงล้นตลาด ซึ่งผู้ซื้อก็ต้องบริหารจัดการให้ราคาก๊าซฯรวมมีต้นทุนถูกที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟ"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า ปตท.สผ.ยังคงมองทิศทางราคาน้ำมันดิบในปี 61 ที่ราว 55-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าปีที่แล้วที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 52-53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้น 1.5-1.6 ล้านบาร์เรล/วัน แม้จะมีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดขึ้นก็ตาม แต่ราคาน้ำมันอาจจะมีความผันผวนได้ ซึ่งยังต้องติดตามทิศทางการผลิตจากสหรัฐฯ ,ข้อตกลงการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย ,สถานการณ์ในอิหร่าน และเวเนซูเอล่า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ