บลจ.ยูโอบีฯ ตั้งเป้า AUM ปีนี้โตไม่ต่ำกว่าอุตฯที่คาดโตกว่า 10% หลังเน้นลงทุนหุ้น, มอง SET ปีนี้ในกรอบ 1,700-1,850 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 26, 2018 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) ปีนี้โตไม่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวกว่า 10% หลังจะเน้นการลงทุนในหุ้นมากขึ้น ขณะที่ในปี 60 บริษัทมี AUM อยู่ที่ 271,111 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนรวม 169,740 ล้านบาท ,กองทุนส่วนบุคคล 79,931 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 21,439 ล้านบาท

สำหรับมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยปีนี้ คาดว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,700-1,850 จุด เนื่องจากยังไม่มั่นใจว่าภาพรวมของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเติบโตตามเป้าหมายที่คาดไว้ 10% หรือไม่ เพราะจากสัญญาณการเงินของโลกมีทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปี โดยหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อนประมาณ 200 จุด

และในช่วงเดือน ม.ค.61 ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรงและเร็วไปถึงระดับ 1,850 จุดได้โดยยังไม่มีข่าวดีหรือพื้นฐานรองรับอย่างชัดเจน ขณะที่ปัจจุบัน P/E อยู่ที่ระดับ 16 เท่า ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณตึงตัวในระยะสั้น ทั้งนี้ จะประเมินภาพรวมของกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยใหม่อีกครั้งเมื่อผลประกอบการไตรมาส 1/61 ออกมาแล้ว

ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโต 3.9% ในปี 61 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ในปีนี้ ด้านเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญานการฟื้นตัวที่ดีและน่าจะขยายตัวได้ 2.2% และ 1.2% ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่คาดว่าโต 4.9% ในปี 61 และ 5.0% ในปี 62 โดยได้แรงสนับสนุนจากการเติบโตที่ดีในภูมิภาคเอเชีย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและแอฟริกา ส่วนเศรษฐกิจจีนยังเติบโตต่อเนื่อง คาดโต 6.6% ถึงแม้จะมีมาตรการเข้มงวดจากภาครัฐออกมาในบางช่วง

ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องจับตาว่าปรับเพิ่มขึ้น 3 หรือ 4 ครั้งในปีนี้ โดยมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ยังคงรักษาระดับดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่ และยังไม่มีสัญญาณที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในปีนี้ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีมากขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 61 คาดเติบโต 3.9-4.2% โดยได้รับอานิสงส์ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวมีแนวโน้มโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โครงการลงทุนภาครัฐที่ประมูลแล้วเสร็จในปี 59-60 จะเริ่มก่อสร้างในปี 61 ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะ รถไฟทางคู่ 5 สาย และโครงการอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์ ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 60 และต้นปี 61 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตลอดปี 61 ทั้งนี้อาจเริ่มมีแนวคิดที่จะปรับเพิ่มดอกเบี้ยในปี 62 หากเงินเฟ้อเริ่มเป็นขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับการลงทุนในปีนี้ แนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะตราสารทุนและสามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยการลงทุนกองทุนของบริษัท ในช่วงไตรมาส 1/61 จะเน้นกระจายความเสี่ยง ลดการกระจุกตัวของพอร์ต ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. Coservative คาดจะได้ผลตอบแทน 4.4% คือ ตราสารหนี่ต่างประเทศ 35% , ตราสารหนี้ในประเทศ 30% , กองทุนผสม 25% , หุ้นในประเทศ 5% และ กองทุนทางเลือก 5%

2. Moderate คาดจะได้ผลตอบแทน 7.2% คือ ตราสารหนี่ต่างประเทศ 30% ,กองทุนผสม 26%,หุ้นต่างประเทศ 19% , หุ้นในประเทศ 10% และที่เหลือคือการลงทุนทางเลือกและตราสารหนี้ในประเทศ และ 3. Aggressive คาดจะได้ผลตอบแทน 10% คือ หุ้นต่างประเทศ 45% , กองทุนผสม 25% ,หุ้นในประเทศ 20% และการลงทุนทางเลือก10%

พร้อมกันนี้บริษัทแนะนำ 5 กองทุนซึ่งครอบคลุมโอกาสการลงทุนที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสมและสม่ำเสมอในระยะกลางถึงยาว ได้แก่

1. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด อินคัม โฟกัส ฟันด์ (UIF) ระดับความเสี่ยงกองทุน 5 ที่เน้นลงทุนในหลายสินทรัพย์พร้อมกับใช้กลยุทธ์ "all-weather strategy" ที่ให้ความสำคัญในการบริหารความผันผวนด้วยการกระจายและปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ เพื่อให้พอร์ตมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ โดยลงทุนผ่านกองทุนหลักคือ UNITED GLOBAL DIVERSIFIED – United Income Focus Trust Class USD Dist

2. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต อินคัม ฟันด์ (UEMIF) ระดับความเสี่ยงกองทุน 5 โอกาสเติบโตไปกับการลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่ได้รับผลบวกจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ ผ่านกองทุนหลักคือ AB SICAV I - Emerging Markets Multi-Asset Portfolio (Class S1 USD)

3. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ไดนามิค บอนด์ ฟันด์ (UDB) ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก ผ่านกองทุนหลักคือ The Jupiter Global Fund – Jupiter Dynamic Bond (Euro Class I) ซึ่งมีกลยุทธ์ในการบริหารพอร์ตการลงทุนที่ยืดหยุ่น กระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ทั่วโลก ด้วยกลยุทธ์แบบเชิงรุก ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เพื่อเป้าหมายสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่เป็นบวกในทุกภาวะตลาด (Absolute Return Mindset)

4. กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เจแปน สมอล แอนด์ มิด แคป ฟันด์ (UOBSJSM) ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นที่มีขนาดกลางและเล็กที่ได้รับปัจจัยสนันสนุนการเติบโตจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น นอกจากการกระจายลงทุนในต่างประเทศในกองทุนข้างต้นแล้ว การลงทุนในหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจโดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งปีก่อนให้ผลตอบแทนถึง 42% สูงที่สุดในบรรดากองทุนของ บลจ.ยูโอบี และในปีนี้คาดว่าจะให้ผลตอบแทนประมาณ 10-15%

5. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไทย สมอล์ แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ ฟันด์ (UTSME) ระดับความเสี่ยงกองทุน 6


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ