ก.ล.ต. ไทย-มาเลย์-สิงคโปร์ ร่วมผลักดันกองทุนรวมข้ามประเทศในอาเซียน พร้อมลดข้อจำกัด-เพิ่มความสะดวก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 27, 2018 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนมาเลเซีย และสิงคโปร์ ลงนามแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการกำหนดข้อตกลงเพื่อเสนอขายกองทุนรวมภายใต้โครงการจัดการลงทุนต่างประเทศในอาเซียน (ASEAN Collective Investment Schemes: ASEAN CIS Framework) เพื่ออำนวยความสะดวกให้การเสนอขายกองทุนข้ามประเทศทำได้ดียิ่งขึ้น

กรอบความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ได้ลงนามร่วมกันไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในประเทศภาคีสามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับการอนุญาตแล้วในประเทศของตนไปเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศภาคีได้ภายใต้กระบวนการอนุญาตที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสและทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี MOU ฉบับดังกล่าวได้ถูกใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของทั้งสามประเทศ จึงได้หารือร่วมกันปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงให้เกิดความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจจัดการกองทุนรวม และเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของ ASEAN CIS ให้มากยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมลงนามใน MOU ฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายภายใต้โครงการนี้แล้วทั้งหมด 11 กองทุน จากมาเลเซีย 7 กองทุน สิงคโปร์ 3 กองทุน และไทย 1 กองทุน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกัน ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 อยู่ที่ 1,461.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่ มีส่วนที่ปรับเพิ่มเติมให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อาทิ การกำหนดระยะเวลาอนุมัติกองทุนให้รวดเร็วยิ่งขึ้นจากเดิมที่กำหนดแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ปรับให้เหมือนกัน เป็นไม่เกิน 21 วัน และการลดมูลค่าขั้นต่ำของทรัพย์สินภายใต้การจัดการจากเดิม 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ บลจ. สามารถเข้าร่วมในโครงการนี้ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับรายละเอียดการแก้ไขเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ http://www.theacmf.org/ACMF/upload/standards_of_qualifying_cis.pdf

"ภายหลังจากที่กรอบการเสนอขายกองทุนรวมข้ามประเทศในอาเซียนได้ประกาศใช้เมื่อปี 2556 หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้น จึงตกลงร่วมกันที่จะแก้ไขบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดข้อจำกัดและอำนวยความสะดวกสำหรับการเสนอขายกองทุนอาเซียนข้ามประเทศให้ดียิ่งขึ้น"นายรพี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ