ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ KGI วงเงินไม่เกิน 2 พันลบ. ที่ระดับ "A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 7, 2018 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI ที่ระดับ "A-" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A-" ด้วย

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีเสถียรภาพทางธุรกิจที่ดีขึ้นและผลจากความพยายามในการกระจายธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนทางธุรกิจที่ชัดเจนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือ KGI Securities Co., Ltd. หรือ KGI Group ในประเทศไต้หวัน ซึ่งจุดแข็งดังกล่าวช่วยทำให้บริษัทได้รับประโยชน์ 2 ประการที่สำคัญ คือความมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ และการมีผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับจากความสามารถในการทำกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (Proprietary Trading) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนและเป็นวงจรขึ้นลงซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงด้วยเช่นกัน

KGI มีแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลาย โดยบริษัทไม่พึ่งพาแต่เฉพาะรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ในสัดส่วนเพียง 32% ของรายได้รวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 61% โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์คิดเป็น 30% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2560

การขยายฐานรายได้ไปในธุรกิจด้านอื่นช่วยให้บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งมากขึ้นและมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงซึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

รายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการกองทุนคิดเป็นสัดส่วน 25.2% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 13.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยรายได้ค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการกองทุนเป็นแหล่งรายได้ที่มีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับรายได้จากค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่อรายได้รวมของบริษัทคิดเป็น 22% ในปี 2560 กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 34.5% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2560 มาจากธุรกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ ธุรกิจการซื้อคืนภาคเอกชน การออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด ตลอดจนการลงทุนของบริษัทในตราสารหนี้และตราสารทุน

ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ตามมูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลงจาก 3.87% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 3.76% ในปี 2559 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในปี 2560 อยู่ที่ 3.27% โดยอยู่ในอันดับที่ 13 เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม บริษัทมีฐานลูกค้าที่ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ในสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราค่านายหน้าค่อนข้างต่ำ ทำให้อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงจากระดับ 0.15% ในปี 2554-2555 มาอยู่ที่ระดับ 0.10% ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสถานะทางการตลาดของตราสารอนุพันธ์ที่แข็งแกร่งโดยสามารถรักษาอันดับที่ 1 ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ตามมูลค่าการซื้อขาย (TFEX) มาตั้งแต่ปี 2556 โดยส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ตามมูลค่าการซื้อขายของบริษัทอยู่ที่ 12.12% ในปี 2560 อีกทั้งบริษัทยังเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในประเทศไทยด้วย โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านมูลค่าการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อยู่ในอันดับที่ 2 เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมแม้ว่าการแข็งขันจะรุนแรงก็ตาม

ผลกำไรสุทธิของบริษัทในปี 2560 อยู่ที่ 888 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าผลกำไรสุทธิในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1,024 ล้านบาท การลดลงเล็กน้อยของผลกำไรสุทธิดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ที่ปรับตัวลดลงและการปรับตัวลดลงของกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท บริษัทยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้มาตั้งแต่ปี 2558 โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 อยู่ที่ 2.37% ตามอัตราส่วนที่ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.65% ในช่วงเวลาเดียวกัน และในปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 5.7%

บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอและมีฐานะการเงินที่มีความยืดหยุ่น โดยบริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 54.2% ณ เดือนธันวาคม 2560 ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนในตราสารที่เป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก อีกทั้งยังมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งด้วย

ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งและมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อยู่ในระดับที่ดี แต่ส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วของบริษัทปรับตัวลง โดยอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วลดลงจาก 76.3% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 55.4% ในปี 2559 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 65% ในปี 2558 และ 60% ในปี 2559 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วของบริษัทอยู่ที่ 40.8% ในปี 2560 ถึงแม้ว่าสัดส่วนของสถานะทุนของบริษัทจะต่ำลง แต่ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสถานะทุนของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอต่อการขยายธุรกิจในอนาคตและรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปที่แข็งแกร่งที่ระดับ 42.79% ในปี 2560 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำรงไว้ที่ระดับ 7%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้และยังคงมีรายได้ที่ไม่ได้มาจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ที่สม่ำเสมอแม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมีความผันผวนอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ การลงทุนในหลักทรัพย์ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โดยโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทไม่สามารถรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้ หรือบริษัทไม่สามารถรักษารายได้ที่สม่ำเสมอจากรายได้ที่บริษัทได้รับจากการจัดการกองทุนของบริษัทลูกเอาไว้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ