BRR มั่นใจปี 61 รายได้โตตามปริมาณขาย ,ตั้งงบ 750 ลบ. ลงทุนรง.น้ำตาลบริสุทธิ์ ส่งเข้าบอร์ด เม.ย.-ผลิตภาชนะชานอ้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 19, 2018 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปี 61 จะเติบโตจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 5.9 พันล้านบาท จากปริมาณการขายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความต้องการน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ 2.9 ล้านตัน หรือเติบโตราว 30% จากปีก่อนที่ 2.21 ล้านตัน อีกทั้งบริษัทมีสัญญาขายล่วงหน้าราว 70-80% โดยทำสัญญาราคาไปแล้ว 50% ที่ระดับ 19 เซนต์/ปอนด์

ขณะเดียวกันบริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ที่ 750 ล้านบาท โดยจะใช้ลงทุนโรงกลั่นน้ำตาลบริสุทธิ์ (refinery) 400 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,000 ตัน/วัน เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเดิม และทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น โดยคาดราคาส่วนต่างจะอยู่ราว 70-80 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารในเดือนเม.ย.61

นอกจากนี้เงินลงทุนที่เหลือจะใช้ในธุรกิจผลิตภาชนะจากชานอ้อย 350 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการให้ผลตอบแทนดี เนื่องจากกระแสการใช้ภาชนะชนิดดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรมในปีนี้ และเห็นผลิตภัณฑ์ในปี 62 กำลังการผลิตราว 800,000-1,000,000 ชิ้นต่อวัน

นอกจากนี้บริษัทยังสนใจเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์/แห่ง ซึ่งจะมีการขายไฟฟ้าที่ 8 เมกะวัตต์ โดยเบื้องต้นตั้งงบลงทุนไว้ 600 ล้านบาท ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างรอกการเปิดประมูลรอบใหม่จากภาครัฐ

นายอนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้รับใบอนุญาตทำโรงงานน้ำตาลใหม่อีก 2 แห่ง ปัจจุบันอยู่ในช่วงการเริ่มทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และศึกษาการทำธุรกิจร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ คาดมีความชัดเจนปีนี้

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลก ปีนี้บริษัทมองว่าจะอยู่ราว 13-15 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากปีที่แล้ว หลังคาดว่าผลผลิตน้ำตาลจากอินเดียเพิ่มขึ้นมาที่ราว 29.5 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ดี ซึ่งจะทำให้เข้ามากดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลก อย่างไรก็ตามในส่วนของบราซิลซึ่งผู้ผลิตและส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลลดลง สาเหตุสำคัญมาจากราคาเอทานอลในบราซิลให้ผลตอบแทนดีกว่าราคาน้ำตาล ทำให้ผู้ประกอบการเบนเข็มนำอ้อยไปผลิตในธุรกิจพลังงานมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ