TM เจรจาพันธมิตร ตปท.3-4 รายร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 20, 2018 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุนทรี จรรโลงบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เทคโนเมดิคัล (TM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ 3-4 ราย เพื่อพิจารณาร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้งในประเทศไทย โดยเบื้องต้นการเจรจากับพันธมิตรรายหนึ่งจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ล้างแผล ทำแผล เพื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย หรืออาจจะนำไปสู่การร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย

ส่วนที่เหลืออีก 2-3 รายนั้น เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าซองปลอดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้สั่งผลิตสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย แต่ปัจจุบันบริษัทได้เจรจากับพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานเพื่อผลิตในประเทศด้วย อย่างไรก็ตามการเจรจายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นจึงยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการสรุปแผนดังกล่าวได้

สำหรับแผนปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้จากการขายไม่ต่ำกว่า 660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน จากความต้องการใช้สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ และวัสดุสิ้นเปลืองที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีแผนที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าที่เป็นโรงพยาบาลรัฐบาลกว่า 580 ราย ทั่วประเทศ และโรงพยาบาลเอกชนกว่า 250 ราย รวมถึงคลินิก หรือสถาบันการแพทย์อื่น ๆ ซึ่งมีการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทโดยตรงอีกกว่า 200 รายทั่วประเทศ และที่สำคัญอาคารสำนักงาน และโชว์รูมแสดงสินค้าบนที่ดินของบริษัทจะสร้างแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการได้ภายในปี 61 ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในห้อง ICU การว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท (OEM) เช่น น้ำยาทำความสะอาด และน้ำยาดับกลิ่นใช้ในโรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย และสถานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าจากบริษัทสู่ผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อขยายช่องทางการสร้างรายได้ และตอบสนองความต้องการของลูกค้า

"เราเน้นหาสินค้าที่มีคุณภาพ ความต้องการใช้ในตลาดมาก ทำให้ถึงแม้จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดเราก็ไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด ซึ่งเรามองว่าในตลาดสินค้าทางการแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้งยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเทรนด์การใช้เครื่องมือทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะลดโอกาสในการติดเชื้อ"นางสุนทรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ