STEC มั่นใจปี 61 พลิกเป็นกำไรจากปีก่อนรับผลลบตั้งสำรองฯ,วางเป้ารายได้ปีนี้โต 25% เล็งได้งานใหม่ 3-4 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 2, 2018 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมั่นใจว่าผลงานปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไร จากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 611 ล้านบาท โดยจะเริ่มเห็นกำไรตั้งแต่ไตรมาสแรก หลังจากที่บริษัทได้ตั้งสำรองโครงการงานก่อสร้างรัฐสภาไปแล้วจำนวน 2.9 พันล้านบาทตั้งแต่สิ้นปี 60 ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของโครงการ

โดยล่าสุดทางรัฐสภาขอขยายเวลางานอีก 2 ปีครึ่ง หรือขยายเวลาไปถึงวันที่ 15 ธ.ค.62 ทำให้โครงการงานก่อสร้างรัฐสภามีระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปีครึ่ง จากเดิม 2 ปีครึ่ง ซึ่งการขยายเวลาออกไป 4 ปี ทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจากโครงการนี้ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายชดเชยให้บริษัท

นอกจากนี้ ยังมีงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินภูเก็ตที่ล่าช้าออกไป ซึ่งบริษัทตั้งสำรองเพิ่มกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดการสร้างแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.61

"งานก่อสร้างที่ล่าช้าเป็นค่าใช้จ่ายและต้นทุนโครงการเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าเช่าเครื่องจักร แรงงาน staff ค่าจ้างที่ต้องเพิ่มขึ้นมา และยังมีค่าเบี้ยประกันภัย และค่าธรรมเนียมต่างๆที่อยู่ในโครงการนี้... การขยายงานสร้างรัฐสภาไปถึงปี 62 เราตั้งสำรองทีเดียวในปี 60 เราคิดแล้วว่าจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่"นายวรพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ STEC ได้ลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ มูลค่าโครงการ 12,280 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.56 ระยะเวลาการก่อสร้าง 900 วัน

นายวรพันธ์ กล่าวว่า ในปี 61 บริษัทคาดว่าจะมีการรับรู้รายได้ราว 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 25% จากปีก่อนที่มียอดรับรู้รายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 62 จะเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นปี 60 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) จำนวน 1.05 แสนล้านบาที่จะทยอยรับรู้ฯ ในช่วง 3 ปี โดยไตรมาส 1/61 ย้งรับรู้ฯ ไม่มาก แต่จะเริ่มเข้ามากขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะจากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 7% จากปีก่อนขาดทุน แต่ก่อนหน้านั้นบริษัททำได้ระดับ 8-9% เพราะปีนี้ยังมีงานก่อสร้างรัฐสภาเป็นตัวถ่วงอยู่ ประกอบกับต้นทุนการบริหารสูงขึ้นทั้งค่าแรง และราคาเหล็กที่ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้ว ส่วนราคาปูนซิเมนต์ยังนิ่งอยู่

นายวรพันธ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีงานใหม่เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 3-4 หมื่นล้านนบาท จากปีก่อนได้งานใหม่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หลักๆ มาจากงานรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองรวม 4 หมื่นล้านบาท ส่วนปีนี้ในช่วงต้นปีบริษัทได้ลงนามสัญญากับเอกชนรับงานใหม่เข้ามาแล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้กับกลุ่ม GULF ได้แก่ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ศรีราชา โรงไฟฟ้ากัลฟ์ปลวกแดง โรงไฟฟ้ากัลฟ์จะนะกรีน รวม 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่มีมาร์จิ้นดี และในปีถัดไป GULF ก็มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าต่อเนื่องอีก 4 แห่ง ทำให้มีโอกาสที่บริษัทจะได้งานใหม่

นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะเข้าประมูลงานโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทางในปีนี้ โดยคาดหวังจะได้งาน 1-2 สัญญา และยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในครึ่งหลังปีนี้ ส่วนโครงการที่รัฐให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน(PPP) ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา มองว่าต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยบริษัทสนใจเข้าร่วมซึ่งต้องศึกษาเงื่อนไขการประมูล (TOR) และหาพันธมิตรร่วมมือกัน

โครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) อาทิ งานก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ท่าเรือเรือแหลมฉบังเฟส 3 อีกทั้งย้งมีโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายใหม่ ได้แก่ บางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นต้น รวมทั้งโรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นของเอกชน

"เราไม่ค่อยกังวลกับการเติบโตของรายได้ เพราะมีโครงการ Infrastructure หลายโครงการที่ยังไม่ complete เพราะ 2-3 ปีนี้ โครงการไฮสปีดเทรนน่าจะชัดเจนสามารถแข่งขันได้ และงานพื้นที่ EEC ก็จะต้องลงทุนโรงงานอุตสาหกรรม"

นายวรพันธ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุน 1 พันล้านบาทเพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรรองรับงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง จากปีก่อนใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาท และในปี 62 จะลงทุนต่อเนื่องแต่วงเงินคาดว่าคงไม่ถึง 1 พันล้านบาท โดยจะใช้เครื่องจักรจากการซื้อ 60% และเช่าเครื่องจักรสัดส่วน 40%

ปัจจุบัน บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 1-2 พันล้านบาทลดลงจากเดิมที่มีอยู่ 4 พันล้านบาท ซึ่งนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ