CHOW ตั้งเป้าปริมาณขายเหล็กปีนี้เพิ่ม 80% หลังได้ออร์เดอร์ TATA ,หาจังหวะขายโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นเข้ากองทุนฯเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 18, 2018 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW) เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณผลิตและจำหน่ายเหล็กในปีนี้ที่ระดับ 2.7 แสนตัน เพิ่มขึ้น 80% จากระดับ 1.5 แสนตันในปีที่แล้ว โดยธุรกิจเหล็กเริ่มดีขึ้นหลังจากที่ซึมตัวมาตลอดในช่วง 10 ปี หลังจากต่างประเทศ มีการควบคุมการผลิตเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพทำให้ซัพพลายบางส่วนหายไปจากตลาด รวมถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานออกมาต่อเนื่องช่วยหนุนความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อจาก Tata International Metals (Asia) Ltd. (TATA) ในปริมาณ 1 แสนตันภายใน 12 เดือน และมีการยืนยันคำสั่งซื้อแล้ว จำนวน 2 หมื่นตัน

นอกจากนี้การลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีโครงสร้างธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะธุรกิจเหล็กซึ่งมียอดขายสูง สร้างกระแสเงินสดได้มาก แต่มีมาร์จิ้นไม่สูง ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า แม้จะสร้างยอดขายไม่สูงมากแต่มีมาร์จิ้นที่มีเสถียรภาพ ล่าสุดบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในญี่ปุ่นและไทย ที่อยู่ในมือรวมประมาณ 66 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งบริษัทวางโมเดลทางธุรกิจที่จะขายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น อีก 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวมราว 6เมกะวัตต์ ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขายบางโครงการเข้ากองทุนแล้วฯ

"ในแง่ของเป็นผู้บริหารมองว่ากลุ่มบริษัทมีการขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ สร้างเงินสดและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ดี และธุรกิจเหล็กก็มีแนวโน้มดีขึ้น สามารถกลับมาผลิตได้ 2 โรงงานตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งเป็นการทยอยเพิ่มกำลังการผลิต เราเคยผลิตได้สูงสุดกว่า 3 แสนตัน ปีนี้เราวางแผน ผลิตไว้ 2.7 แสนตัน เซ็นเอ็มโอยูเบื้องต้นกับลูกค้าแล้ว 1 แสนตัน เรามองจังหวะนี้เป็นจังหวะที่เริ่มขยายกำลังการผลิตเพื่อเก็บเกี่ยวสินทรัพย์ที่ลงทุนก่อนหน้านี้ให้ได้ประโยขน์มากสุด"นายอนาวิล กล่าว

ทั้งนี้ ปีที่แล้ว CHOW มีรายได้รวม 4.22 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นรายได้จากการขายและบริการ 3.68 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 256.15 ล้านบาท

นายอนาวิล กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเหล็กจะอยู่ที่ 4 พันล้านบาท และยอดขายไฟฟ้าอยู่ระดับ 2 พันล้านบาท โดยธุรกิจเหล็กจะยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนยอดขายของบริษัท ขณะที่ธุรกิจพลังงานจะยังช่วยผลักดันผลประกอบการโดยรวมได้ค่อนข้างดี เนื่องจากมีมาร์จิ้นที่มีเสถียรภาพ

สำหรับธุรกิจไฟฟ้าปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 9 โครงการ กำลังการผลิตรวม 59.03 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Rooftop) ในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวม 6.64 เมกะวัตต์

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ขายโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นบางแหล่งเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์สุงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ โดยการขายสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสามารถนำเงินที่ลงทุนไปแล้วกลับมาทำกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายมาลงทุนในโครงการถัดไป

"สิ่งที่เราขายไปเป็นการทดสอบตลาดให้ทางกลุ่มผู้ถือหุ้น หรือนักลงทุนทั่วไปที่สนใจกลุ่มบริษัทเรา ให้เห็นภาพธุรกิจว่าสินทรัพย์ที่บริษัทเข้าไปลงทุน 3 ปีที่ผ่านมา เราลงทุนในสินทรัพย์ที่ค่อนข้างแข็งแรง มีสภาพคล่องสูง เรามีช่องทางในการเปลี่ยนสินทรัพย์กลับมาเป็นเงินได้ค่อนข้างรวดเร็วและสร้างผลกำไรได้ค่อนข้างดี เป็นอีกโมเดลธุรกิจให้กับนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นเราได้เกิดความรู้และความเข้าใจบริษัทเรามากขึ้น เราขายโครงการไปเมื่อปีที่แล้วประมาณ 3 เมกะวัตต์...เมื่อต้นปีนี้คณะกรรมการก็อนุมัติให้ขายเข้ากองทุนเพิ่มอีก 6 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างดูจังหวะว่าจะเป็นช่วงไหนที่จะได้ประโยชน์สูงสุด"นายอนาวิล กล่าว

นายอนาวิล กล่าวว่า โมเดลธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าที่บริษัทต้องการให้เกิดขึ้นจะเป็นรูปแบบการสร้างโรงไฟฟ้า แล้วจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเอง จากนั้นจะขายสินทรัพย์เข้ากองทุน โดยบริษัทยังจะรับหน้าที่บริหารโครงการต่อไป ซึ่งบริษัทเชื่อว่าโมเดลธุรกิจนี้จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรมากที่สุด

สำหรับภาระหนี้สินที่มีอยู่จำนวนมากนั้นมองว่ายังไม่น่ากังวล เพราะสินทรัพย์ที่บริษัทลงทุนมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง ส่วนที่กู้หนี้สินระยะสั้นเพื่อลงทุน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อแล้วเสร็จ ก็จะสามารถทำเป็นเงินกู้โครงการระยะยาว (long term project finance) ที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี ซึ่งจะเป็นการรีไฟแนนซ์หนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาว โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างรายได้ที่มีเสถียรภาพ

สิ้นปี 60 บริษัทมีหนี้รวมประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นราว 1.4 พันล้านบาท ส่งผลให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ราว 7 เท่า ซึ่งนายอนาวิล กล่าวว่า ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้สินธุรกิจเหล็กส่วนใหญ่เป็นหนี้สินหมุนเวียน ขณะที่หนี้สินธุรกิจพลังงาน เป็นการกู้เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขณะที่บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าในมืออยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จก็จะสามารถสร้างรายได้กลับเข้ามา

ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมนำ บมจ.เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ (CE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ระดมทุนด้วยการนำเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยังเป็นการแยกธุรกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ