ฟิทช์ จัดอันดับเครดิต PTL เป็นครั้งแรกที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 27, 2018 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ให้กับ บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL) เป็นครั้งแรกที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของ PTL สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก โดยบริษัทฯ มีกำลังการผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกเทียบเท่ากับผู้ผลิตในระดับโลก บริษัทฯ มีฐานการผลิตและการจำหน่ายสินค้ากระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ถูกลดทอนโดยความผันผวนของธุรกิจที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ นอกจากนี้อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก: อันดับเครดิตของ PTL ซึ่งพิจารณารวมถึงสถานะทางการเงินรวมของบริษัทแม่ Polyplex Corporation Limited (PCL) ด้วย สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก โดย PTL ร่วมกับการดำเนินธุรกิจของ PCL ที่รวมเรียกว่า โพลีเพล็กซ์กรุ๊ปเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการผลิต โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 5 ในตลาดแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง กำลังการผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกของโพลีเพล็กซ์กรุ๊ป ปัจจุบันเทียบเท่ากับผู้ผลิตในระดับโลก เช่น Toray, Mitsubishi และ Dupont-Teijin อย่างไรก็ตามโพลีเพล็กซ์กรุ๊ปมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น Specialty น้อยกว่าคู่แข่งเหล่านี้ ผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่สิบรายแรกของโลก มีสัดส่วนการผลิตคิดเป็นประมาณร้อยละ 46 ของการผลิตทั้งหมด

การผลิตและการจำหน่ายที่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ: PTL มีฐานการผลิตอยู่สามแห่งกระจายตัวอยู่ในตลาดหลักในสามภูมิภาค ซึ่งได้แก่ เอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป โดยบริษัทฯ มีโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา PTL มีแผนที่จะเพิ่มฐานการผลิตอีกหนึ่งแห่งที่ประเทศอินโดนีเซียในปี 2562 การกระจายฐานการผลิตไปในภูมิภาคต่างๆ จะช่วยลดผลกระทบจากความต้องการใช้สินค้าที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในแต่ละภูมิภาค และช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เกิดจากการหยุดการผลิตของโรงงาน นอกจากนี้ การที่แหล่งการผลิตอยู่ใกล้กับตลาด ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ความต้องการสินค้ามีมากกว่ากำลังการผลิตซึ่งต้องมีการนำเข้าสินค้า เช่น ภูมิภาคอเมริกาเหนือ และยุโรป

ฐานลูกค้าที่กระจายตัวดี: รายได้ของ PTL มีการกระจายตัวที่ดีตามตลาดหลักในสามภูมิภาค ซึ่งได้แก่ เอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทางการตลาดและฐานการผลิตในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้รายได้จากการจำหน่ายแผ่นฟิล์มให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 44 ของรายได้ทั้งหมดในปีงบการเงิน 2560 ที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งช่วยลดการกระจุกตัวของการจำหน่ายแผ่นฟิล์มให้แก่ลูกค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน PTL มีลูกค้าประมาณ 1,600 รายทั่วโลก โดยลูกค้ารายใหญ่สิบอันดับแรกคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 29 ของรายได้รวมทั้งหมดในปีงบการเงิน 2560 นอกจากนี้ PTL และ บริษัทแม่ PCL อยู่ในธุรกิจแผ่นฟิล์ม PET มานานกว่า 15 ปี

วัฏจักรผลิตภัณฑ์ที่ผันผวน: PTL เผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจแผ่นฟิล์ม PET นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความ สามารถในการกำหนดราคาที่จำกัด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐานที่ผลิตกันอย่างแพร่หลายและมีการแข่งขันที่สูง ซึ่งราคาจะถูกกดดันจากภาวะตลาด โดยแผ่นฟิล์มมาตรฐานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ถึง 75 ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม PTL ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น แผ่นฟิล์มเคลือบอลูมิเนียม (Metallized film) และแผ่นฟิล์มเคลือบ (Coated films) รวมทั้งขยายการจำหน่ายแผ่นฟิล์มประเภท Specialty ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของแผ่นฟิล์มมาตรฐานชนิดบาง PTL ยังผลิตแผ่นฟิล์มประเภทอื่น เช่น แผ่นฟิล์ม CPP และแผ่นฟิล์ม Blown PP รวมถึงแผ่นฟิล์ม PET ชนิดหนา เพื่อเพิ่มชนิดของผลิตภัณฑ์และฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

ความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ผันผวน: PTL มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ โดยวัตถุดิบหลักได้แก่ purified terephthalic acid (PTA) และ mono ethylene glycol (MEG) ซึ่งราคา PTA และ MEG ก็จะผันผวนตามราคาปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบ โดยราคาปิโตรเคมีดังกล่าวมักจะขึ้นลงตามราคาน้ำมันเป็นหลัก ถึงแม้ว่าราคาแผ่นฟิล์ม PET มีแนวโน้มที่จะปรับตามราคาวัตถุดิบ แต่ราคาแผ่นฟิล์ม PET ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดของแผ่นฟิล์ม PET ด้วย ปัจจุบันสภาวะตลาดของแผ่นฟิล์ม PET มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ โดยกำลังการผลิตใหม่จำนวนมากที่เพิ่มเข้ามาในตลาดในช่วงปี 2554 ถึงปี 2559 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการณ์แผ่นฟิล์ม PET เป็นอย่างมาก ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization) ของอุตสาหกรรม และผลกำไรของผู้ประกอบการณ์ลดลง ผลกระทบจากกำลังการผลิตส่วนเกินได้ลดน้อยลงในปี 2560 และฟิทช์คาดว่าผลกระทบดังกล่าวน่าจะลดน้อยลงอีกในปี 2561

ปริมาณการขายช่วยเพิ่มรายได้: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการขาย (Sales volume) ของ PTL จะเพิ่มขึ้น (ไม่เกินร้อยละ 10) ในปีงบการเงิน 2561-2562 เนื่องจากความต้องการใช้แผ่นฟิล์มพลาสติกในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน และในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตอยู่ นอกจากนี้โรงงานใหม่ของบริษัทฯ ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อแล้วเสร็จน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายของบริษัทฯ ให้มากยิ่งขึ้นในปีงบการเงิน 2563-2564 แม้ว่าฟิทช์คาดว่าน่าจะมีการทยอยค่อยๆเพิ่มการผลิตก็ตาม อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของบริษัทฯ น่าจะปรับลดลงเหลือประมาณร้อยละ 17-18 ในปีงบการเงิน 2562-2563 (เก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2561 บริษัทฯ มี EBITDA margin อยู่ที่ร้อยละ 18.3) เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมแผ่นฟิล์ม PET

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Total adjusted net debt to EBITDAR) น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.0 ถึง 1.3 เท่าในปีงบการเงิน 2562-2563 เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ก็น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการประเมินเครดิตของบริษัทฯ ได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น ประกอบกับการเพิ่มทุนที่เข้ามาในปีงบการเงิน 2559 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าของบริษัทฯ ลดลงมาที่ 1.0 เท่า ณ สิ้นปี 2561จาก 6.4 เท่าในปีงบการเงิน 2558 อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ ณ ปัจจุบันจะช่วยรองรับความผันผวนของธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ

ความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่: ฟิทช์ประเมินว่า PTL มีความเชื่อมโยงกับ PCL ในระดับปานกลาง และสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ของ PTL สูงกว่าสถานะทางเครดิตโดยลำพังของ PCL ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตในเรื่อง Parent and Subsidiary Rating Linkage

PTL และ PCL มีการกำหนดเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจและตลาดที่แยกกันอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดกันและทับซ้อนกัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของ PTL เกิดความสบายใจ อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารของทั้งสองบริษัทฯ ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกัน และ PTL ก็มีความสำคัญมากต่อ PCL เนื่องจากเป็นบริษัทลูกที่ให้รายได้มากที่สุดแก่ PCL อันดับเครดิตของ PTL พิจารณามาจากสถานะทางการเงินรวมของ PCL ที่รวมผลประกอบการณ์ของ PTL ทั้งหมดหักกำไรทั้งหมดของถือหุ้นส่วนน้อย

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป PTL มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่ PTL มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ PTL มีความใกล้เคียงกันกับของ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกตามรายได้ KCE ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงด้วยการที่บริษัทเน้นผลิต ผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามบริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน Total adjusted net debt to EBITDAR อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน

เมื่อเทียบกับ บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ TASCO เป็นผู้ผลิตยางมะตอยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม TASCO มีจำนวนฐานการผลิตที่มากกว่าใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย และการแข่งขันในธุรกิจผลิตยางมะตอยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าธุรกิจผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติก บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และมีสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ที่ BBB+(tha) PTL มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า IRPC อย่างมาก โดย IRPC ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเชื่อมโยงกับการผลิตปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตที่มากกว่า ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการที่บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกอย่างเดียว นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของ PTL อยู่ในส่วนผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย และมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาแผ่นฟิล์มพลาสติกมาตรฐานชนิดบาง นอกจากนี้ PTL ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า IRPC ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตของ PTL สูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC ที่ BBB+(tha) อันดับเครดิตของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มหนึ่งอันดับเครดิต จากการเชื่อมโยงในระดับปานกลางกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งได้แก่ บมจ.ปตท (PTT) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

-ประมาณการทางการเงินสำหรับปีงบการเงิน 2561 อยู่บนพื้นฐานจากผลประกอบการของบริษัทฯ สำหรับงวดเก้าเดือนปีงบการเงิน 2561

-การเติบโตของรายได้ที่ประมาณร้อยละ 5 ในปีงบการเงิน 2562 จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และร้อยละ 10 ในปี 2563 จากการเริ่มดำเนินงานของโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย

-EBITDA margin อยู่ที่ร้อยละ 17-18 ในปีงบการเงิน 2562-2563 (งวดเก้าเดือนปีงบการเงิน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 18.3) โดย EBITDA margin ที่ลดลงเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่คาดว่าจะสูงขึ้นและ แรงกดดันจากกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมแผ่นฟิล์ม PET

-การลงทุนในปีงบการเงิน 2562-2564 ทั้งหมดประมาณ 3.8 พันล้านบาท

-จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

-ขนาดของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือบริษัทฯ มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Total adjusted net debt to EBITDAR) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างไรก็ตามปัจจัยทั้งสองไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

ปัจจัยลบ:

-กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการไว้ ส่งผลให้ อัตราส่วน Total adjusted net debt to EBITDAR ของ PCL สูงกว่า 2 เท่า อย่างต่อเนื่อง

-EBITDAR margin ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของ PTL อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยสภาพคล่องได้รับการสนับสนุนจกเงินสดจำนวน 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 โดยบริษัทฯ มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท โดยประมาณ ร้อยละ 78 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นวงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้ จำนวน 2 พันล้านบาท ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถยืดการชำระหนี้ระยะสั้นจำนวนนี้ออกไปได้เนื่องจากบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ