ทรีนีตี้ มองหุ้นไทยเดือนพ.ค.น่าสนใจลดลง หลัง Bond Yield สหรัฐฯพุ่ง, น้ำมันดิบเสี่ยงปรับฐานระยะสั้น-หุ้น PTT พักตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 30, 2018 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนพฤษภาคมจะมีความน่าสนใจที่ลดลง หลังมีปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นล่าสุด และมีอิทธิพลต่อทิศทางตลาด ได้แก่ การปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ของสหรัฐฯ โดยรุ่นอายุ 10 ปีขึ้นมายืนเหนือ 3% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 โดยการปรับตัวขึ้นมาของ Bond Yield สหรัฐฯ นี้ ทำให้ Earning yield gap (ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนหุ้นไทยกับ Bond Yield สหรัฐฯ) ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2550 บ่งชี้ว่าหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับพันธบัตรสหรัฐ

นอกจากนั้นปัจจัยพื้นฐานภายใน หรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็ไม่ได้ช่วยสนับสนุนการปรับขึ้นของดัชนีด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดประมาณการกำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของ SET Index ถูกปรับลดลงทั้งในส่วนของปี 2561 และ 2562 ส่งผลให้ Valuation ของตลาดหุ้นไทยแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประมาณการ EPS ของตลาดหุ้นไทยถูกปรับลดลงตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้แก่ การที่นักวิเคราะห์ออกมา Downgrade ผลประกอบการของกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นตลอดช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

รวมถึงยังมีปัจจัยที่อาจกดดัน SET Index ได้แก่ ความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันดิบอาจมีการปรับฐานลงในระยะสั้น ภายหลังจากปัจจัยสนับสนุนอย่างความตรึงเครียดในตะวันออกกลาง (Geopolitical risk) มีน้ำหนักลดลง และระดับอุปทานที่อาจเพิ่มขึ้น ภายหลังจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ไม่นับรวมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกดดันต่อราคาโภคภัณฑ์โดยรวม

อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจจำกัด Upside หรือการปรับขึ้นของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานและ SET Index ได้แก่ การพักตัวของหุ้น PTT ภายหลังจากการแตกพาร์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับหุ้นขนาดใหญ่อย่าง AOT มาก่อนหน้านี้

สำหรับธีมการลงทุนที่แนะนำสำหรับเดือนพฤษภาคม แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยบวกสนับสนุนเฉพาะตัว เช่น กลุ่มปิโตรเคมีที่ส่วนต่าง (สเปรด) ของราคาผลิตภัณฑ์ยังคงอยู่ในระดับสูง ได้แก่ IVL (ให้ราคาเป้าหมาย 70 บาท) กลุ่มโรงแรมที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวเมืองรอง ได้แก่ MINT (ราคาเป้าหมาย 48 บาท) และ ERW (ราคาเป้าหมาย 8.90 บาท)

นอกจากนี้ยังแนะนำหุ้น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และ Logistics properties ที่เตรียมได้ประโยชน์จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงถัดไป หุ้นที่ได้ประโยชน์ได้แก่ AMATA และ WHA (ราคาเป้าหมาย Consensus อยู่ที่ 27 บาทและ 4.60 บาทตามลำดับ)

รวมทั้งหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มี Dividend yield อยู่ในระดับสูง ได้แก่ QH ( ราคาเป้าหมาย 3.85 บาท) และ AP (ราคาเป้าหมาย 9.20 บาท)และกลุ่มสื่อสารที่มี Regulatory risk ที่ลดลง ประกอบกับความน่าจะเป็นที่จะได้รับมาตรการเยียวยาจากภาครัฐมีสูงขึ้น เลือก ADVANC (ราคาเป้าหมาย 217 บาท) และ TRUE ( ราคาเป้าหมาย 8.30 บาท)

สำหรับนักลงทุนระยะสั้นประเภทเก็งกำไร แนะนำหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯที่ได้อานิสงส์จากการที่เงินบาทกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการอ่อนค่ามากที่สุดประจำปี ได้แก่ KCE (ราคาเป้าหมาย 88 บาท) และ HANA (ราคาเป้าหมาย 44 บาท)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ